1. อย่าหนีหนี้
และอย่าหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ขณะเดียวกัน ต้องไม่สร้างหนี้เพิ่ม ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นให้มากที่สุด สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นั้นตัดไปได้เลย เนื่องจากว่าขณะนี้ไม่สะดวกจ่าย แล้วหันมาจับจ่ายใช้สอยด้วยเงินสด แทนบัตรเครดิต หนี้บัตรเครดิตจะได้ไม่งอกเพิ่ม เพื่อให้หลุดจากวังวนของการเป็นหนี้ไม่รู้จบเสียที
2. จดบันทึกรายรับรายจ่าย
ควรจดบันทึกอย่างละเอียด เพื่อให้รู้สถานะทางการเงินของตัวเอง ในบันทึกจะบอกว่าอะไรเป็นรายจ่ายจำเป็น อะไรเป็นรายจ่ายที่ตัดทิ้งได้
3. ปลดหนี้ก้อนใหญ่ให้หมด
ถ้าชำระหนี้แบบเต็มวงเงิน แล้วยังมีเงินเหลือพอดำรงชีวิตในแต่ละเดือน ให้กัดฟันจ่ายหนี้บัตรที่มียอดหนี้มากที่สุดให้หมดก่อน
ส่วนบัตรใบที่หนี้น้อย ค่อยชำระให้หมดเร็วที่สุด อย่าชำระขั้นต่ำ เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญกับดอกเบี้ยมหาโหด
4. รีไฟแนนซ์ยืดหนี้
ถ้าใช้หนี้แล้วเหลือเงินไม่พอใช้สอยในชีวิตประจำวัน ลองรีไฟแนนซ์เพื่อยืดหนี้ออกไป อย่าไปตกหลุมพรางหาแหล่งเงินกู้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าหนี้เก่า
เพราะนอกจากไม่ช่วยแล้ว ยังเพิ่มหนี้เข้าไปอีก ต้องหาสถาบันการเงินที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า ถ้าเป็นหนี้บัตรเครดิต 3 ใบ
อาจเลือกรีไฟแนนซ์แค่ 1-2 ใบซึ่งมีหนี้สูง แต่อย่าลืมว่ามีข้อดี ก็มีข้อเสีย คือระยะเวลาที่ต้องใช้หนี้จะยืดออกไปจากเดิม
5. หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสวัสดิการพนักงาน สหกรณ์ ถ้ามีวินัยการใช้หนี้ การหันหน้าไปพึ่งพา
คนในครอบครัวก็เป็นอีกทางหนึ่ง เพราะนอกจากไม่มีดอกเบี้ยแล้ว ระยะเวลาใช้หนี้ก็สามารถตกลงกันได้อีกด้วย
6. ปรับโครงสร้างหนี้
ติดต่อเจ้าหนี้บัตรเครดิตเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งคือการทำสัญญาใหม่ที่จะรวมเงินต้น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียม
ค่าติดตามหนี้ทั้งหมด ข้อดีก็คือช่วยยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป หรือถ้าเป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล
กับสถาบันการเงินเดียวกัน อาจได้ข้อเสนอให้รวมหนี้มาเป็นยอดเดียว และคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าเดิม
แต่อย่าลืมว่าหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล มีระยะเวลาใช้หนี้ต่างกัน การคิดดอกเบี้ยก็อยู่ในอัตราที่ต่างกัน
ถ้าไม่มีเงินจ่ายหนี้ในกรณีที่มีหนี้หลายอย่าง ไม่ควรปรับโครงสร้างหนี้ เพราะถ้าผิดนัดแม้แต่งวดเดียว อาจถูกอายัดทรัพย์ หรืออายัดเงินเดือนได้
7. เคล็ดลับปลดหนี้
ถึงจะแนะทางออกเมื่อเงินไม่พอใช้หนี้ให้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการจัดการให้หนี้ที่มีอยู่หายไปโดยเร็ว มีหลายคนที่เป็นหนี้ แล้วสามารถปลดหนี้ได้หมด ต้องใช้กำลังใจและความอดทน คุณโจ มณฑาณี ตันติสุข ก็เป็นคนหนึ่งที่เคยโดนวิกฤตทางเศรษฐกิจเล่นงานมาแล้ว
เรื่องนี้ เล่าจากประสบการณ์ของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เธอเคยมีหนี้สินล้นพ้นตัวจนเกือบถูกฟ้องล้มละลาย แต่ในที่สุดก็สามารถปลดหนี้ 3 ล้านกว่าได้ เธอเขียนหนังสือบอกเล่าประสบการณ์จริงของตัวเอง
ชื่อ ‘เงิน เรื่องใหญ่ที่โรงเรียนไม่เคยสอน’ นอกจากนี้เรายังมีเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์ด้านการใช้จ่าย สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการเงิน 6 ข้อ ที่น่าสนใจมาฝากกัน
ข้อ 1. คุณต้องแยกแยะให้ได้ ระหว่าง ‘อยากได้’ กับ ‘จำเป็น’
ข้อ 2. รู้สถานการณ์การเงินของตัวเองเป็นอย่างดี ไม่ใช้จ่ายตามอารมณ์
ข้อ 3. ต้องเริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่ายตั้งแต่วันนี้ เพื่อป้องกันคำถามที่ว่า ‘เงินฉันหายไปไหน’
ข้อ 4. ให้รางวัลตัวเองด้วยการออม
ข้อ 5. ฝืนใจไม่ใช้บัตร ด้วยการฝึกนิสัย ‘มีเงินสดค่อยซื้อ’
ข้อ 6. ทิ้งสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพทางการเงินของเรา
เชื่อได้เลยว่าหากคุณทำตามขั้นตอนดังกล่าว คุณจะไม่มีวันประสบปัญหาทางการเงินอีกเลย
ขอขอบคุณ moneyhub