ลูกหนี้ต้องรู้ ! กฏหมายใหม่ ห้ามเจ้าหนี้ข่มขู่-โทรตื๊อ “ผู้ค้ำประกัน” ไม่ต้องรับผิดเสมือนเป็นลูกหนี้ชั้นต้นแล้ว !!!

 

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ผ่านทั้ง3วาระแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2558 นี้ โดย พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ก็จะช่วยให้ลูกหนี้ได้รับการคุ้มครองจากการทวงหนี้จากเจ้าหนี้ หรือผู้ทำหน้าที่แทนในการทวงหนี้มากขึ้นจากเดิม

นอกจากนี้ สนช. ยังได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมจากเดิมที่ให้ผู้ทวงหนี้ในระบบต้องมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลังเท่านั้น โดยเพิ่มให้ผู้ทวงหนี้นอกระบบ ทั้งบุคคลและนิติบุคคลที่ไม่มาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลัง ต้องไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ด้วย เพื่อให้การกำกับดูแลการทวงถามหนี้ได้ทั้งระบบ และในการทวงถามหนี้ต้องทำอย่างเป็นธรรมนั้น

สำหรับข้อห้ามที่ระบุไว้ในร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีดังนี้

1. ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้ติดต่อบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสถานที่ติดต่อลูกหนี้
2. ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้ กระทำการในลักษณะที่เป็นการละเมิด และคุกคาม ในการติดตามทวงถามหนี้ อาทิ ใช้ความรุนแรง ใช้วาจา หรือภาษาดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี การเปิดเผยความเป็นหนี้ของผู้บริโภคแก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
3. ห้ามติดตามทวงหนี้เกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงการติดต่อทางโทรศัพท์วันละหลายครั้ง และก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ
4. ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้กระทำการในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในการติดตามทวงหนี้
5. ห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้ ติดตามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม

สำหรับการติดต่อลูกหนี้ทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือติดต่อบุคคล สำหรับวันทำการให้ติดต่อได้ในเวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการติดต่อได้ในเวลา 08.00-18.00 น. เว้นแต่ได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร

ขณะที่บทกำหนดโทษในกรณีที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1. โทษทางปกครองจะถูกปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ตามมาตรา 24
2. โทษทางอาญาจะถูกเพิกถอนการจดทะเบียน และจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถือว่าเป็นการลงโทษขั้นสูงสุด รวมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ขึ้นมาดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานด้วย

ผู้ค้ำประกันตามกฎหมายใหม่
กฎหมายค้ำประกันและจำนองหนี้บุคคลอื่นที่แก้ไขใหม่ ฉบับที่ 20 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 ทนายคลายทุกข์จึงขอนำข้อดีของกฎหมายค้ำประกัน ฉบับใหม่ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว มานำเสนอดังนี้ ส่วนผลกระทบของเจ้าหนี้สถาบันการเงินจะนำเสนอในตอนถัดไป

ข้อดีของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557
สามารถคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง ซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้นได้มากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินหรือประกอบกิจการให้กู้ยืมเงิน มักอาศัยอำนาจต่อรองที่สูงกว่าหรือความได้เปรียบในทางการเงิน กำหนดข้อตกลงที่เอาเปรียบผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนอง จึงเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองต้องถูกบังคับชำระหนี้แทนลูกหนี้ในวงเงินที่สูงจนอาจกลายเป็นผู้ถูกฟ้องล้มละลายได้

เนื้อหาของพระราชบัญญัติฯ จำนวน 25 มาตรา ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
– แก้ไขเพิ่มเติมให้การค้ำประกันหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข ต้องกำหนดรายละเอียดของหนี้และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน รวมทั้งจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกัน รวมทั้งจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้เฉพาะหนี้ตามสัญญานั้น
– กำหนดให้ข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะ
– กำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันเป็นภาระแก่ผู้ค้ำประกันเกินสมควร ให้ข้อตกลงนั้นมีผลเป็นโมฆะ
– แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของเจ้าหนี้ในการบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันเมื่อลูกหนี้ผิดนัดและผลกรณีเจ้าหนี้มิได้บอกกล่าว และกำหนดให้สิทธิแก่ผู้ค้ำประกันในการชำระหนี้ที่ถึงกำหนดได้
– แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้กระทำการใด ๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ด้วย รวมทั้งกำหนดให้ข้อตกลงที่เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกันเป็นโมฆะ

– กำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้อันมีกำหนดเวลาแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ และห้ามกำหนดข้อตกลงไว้ล่วงหน้าให้ผู้ค้ำประกันยินยอมที่จะเป็นประกันหนี้นั้นต่อไป แม้ว่าเจ้าหนี้จะผ่อนชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้แล้ว
– กำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับการจำนองที่แตกต่างไปจากที่บทบัญญัติลักษณะจำนองอันเป็นภาระแก่ผู้จำนองเกินสมควร ให้ข้อตกลงนั้นมีผลเป็นโมฆะ
– กำหนดให้นำมาตรา 691 มาตรา 697 และมาตรา 700 และมาตรา 701 มาใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลหลายคนเป็นผู้จำนองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระด้วย
– กำหนดให้ผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองในเวลาที่บังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุด รวมถึงให้ข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้จำนองต้องรับผิดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นโมฆะ เว้นแต่กรณีการจำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ของนิติบุคคล ซึ่งมิใช่บริษัทมหาชนจำกัด และในกรณีนั้นมีผู้มีอำนาจบริหารจัดการนิติบุคคล หรือผู้ถือหุ้นเกินร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นที่จำหน่ายแล้วของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้จำนองทรัพย์
– กำหนดขั้นตอนในการบังคับจำนองของผู้รับจำนองให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงให้ความคุ้มครองผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ของผู้อื่นจากกรณีที่ผู้รับจำนอง ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
– กำหนดขั้นตอนและเงื่อนไขที่ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดแทนการขายทอดตลาดเพื่อเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดแทนการขายทอดตลาดให้ชัดเจนขึ้น
– กำหนดให้สิทธิแก่ผู้จำนองในการแจ้งต่อผู้รับจำนองเพื่อให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล
– แก้ไขระยะเวลาในการบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 728 ที่แก้ไขเพิ่มเติม
– แก้ไขระยะเวลาในการไถ่ถอนจำนองของผู้รับโอนให้มีความสอดคล้องกันกับระยะเวลาในการบอกกล่าวบังคับจำนองของเจ้าหนี้มายังผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งมีจำนอง
– กำหนดเพิ่มเติมเหตุระงับจำนอง ให้รวมถึงการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามมาตรา 729/1
– กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับ สิทธิ หน้าที่ หรือความรับผิด ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ เว้นแต่บทบัญญัติของกฎหมายใหม่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
– กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รักษาการ

“การจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกัน จะส่งผลให้คดีล้มละลายน้อยลงเป็นอย่างมาก”

ใส่ความเห็น