วิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็วขึ้น มีวิธีการให้ผ่อนหมดเร็วๆ ได้อย่างไรบ้าง ? มีตัวอย่างให้ดูครับ

สาระน่ารู้ วิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็วขึ้น

ผมไปอ่านเจอบทความหนึ่ง เป็นวิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็วขึ้น ค่อนข้างเป็นประโยชน์ เอาไว้เป็นแนวทางได้เลย มาดูกันครับ

 

 

ซื้อบ้านราคา 3 ล้าน ผ่อนเดือนละ 18,000 บาท มีวิธีการให้ผ่อนหมดเร็วๆ ได้อย่างไรบ้าง ?

แหม …. ถามกันแบบนี้ ถ้าทะลึ่งตอบตรงๆว่า “ก็รีบปิดรีบโปะ จะได้หมดเร็วหมดไว” คงจะโกรธกันน่าดู

แต่จะว่าไปนั่นก็เป็นวิธีการเดียวครับที่จะทำให้หนี้บ้านหมดได้เร็วได้ไวสมดังใจ ก็คิดเอาง่ายๆ คุณยืมเงินเพื่อนสักคนมา 3 ล้าน ถามว่าวิธีการทำให้หนี้ที่ค้างเพื่อนไว้หมดไวที่สุดต้องทำยังไง

ไม่มีคำตอบอื่นครับ นอกจากรีบเอาเงินไปคืนเขาให้หมดโดยเร็วที่สุด

แต่ก็ใช่ว่าจะรีบโปะรีบเทโดยไม่มีแผนเลย เพราะการเร่งเอาเงินก้อนไปชำระหนี้บ้าน อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน (ไม่พอใช้) รวมถึงแผนการเงินอื่นๆในชีวิตคุณได้ ดังนั้นจะโปะ จะปิด มันก็ต้องมีหลักการกันสักนิดนึง

จากโจทย์ท่ีให้มา บ้านราคา 3,000,000 บาท ส่งเดือนละ 18,000 บาท ผมคาดว่าคุณคงทำสัญญากู้ยืมยาว 30 ปี ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยราว 6 เปอร์เซ็นต์

สำหรับแนวทางผ่อนชำระเพิ่มเพื่อให้หนี้หมดเร็วนั้น สามารถทำได้ 2 ทางด้วยกัน คือ ชำระเพ่ิมเป็นจำนวนเท่าๆกันทุกเดือน หรือชำระเป็นเงินก้อนใหญ่คราวละมากๆ

เรามาดูกันที่แนวทางแรกกันก่อน

1. ผ่อนชำระเพิ่ม เป็นจำนวนเท่าๆกันในแต่ละเดือน

จากข้อมูลที่ส่งมา ปัจจุบันคุณส่งบ้านเดือนละ 18,000 บาท สมมติคุณวางแผนที่จะส่งเพิ่มอีกเดือนละ 10% หรือ 1,800 บาท (ถ้ากลัวจำลำบากเพ่ิมเป็น 2,000 บาทก็ได้ครับไม่ผิดกติกา) รวมแล้วเดือนๆหนึ่งคุณส่งบ้านเดือนละ 19,800 บาท

ในกรณีบ้านของคุณจะผ่อนชำระหมดภายในระยะเวลา 22 ปี กับอีก 10 เดือน โดยประมาณ หมดเร็วขึ้น 7 ปีเศษแหนะ แถมยังลดดอกเบี้ยลงได้ร่วมๆ 1 ล้านบาทครับ

ทั้งนี้ถ้าอยากเร็วขึ้น ก็อาจปรับส่วนเพิ่มให้มากขึ้นอีกก็ได้ครับ ถ้าไหว

2. ผ่อนชำระเพิ่มอีก 1 เดือน

วิธีคิดในแนวทางที่สองก็คือ 1 ปี เราส่งบ้าน 13 เดือน แทนที่จะเป็น 12 เดือนครับ ซึ่งอาจจะใช้ช่วงโบนัสออก หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่ได้เงินก้อน จะโปะเวลาไหน ช่วงใดของปีก็ได้ ได้ผลไ่ม่ต่างกันครับ

จากข้อมูลที่ส่งมา สมมติ คุณส่งค่าบ้านเพิ่มเป็น 2 เดือน ในเดือนธันวาคมของทุกปี (เดือนอื่นส่งปกติ) พูดง่ายๆ เดือนอื่นส่งเดือนละ 18,000 บาท แต่เดือนธันวาคมส่ง 36,000 บาทซะเลย

ในกรณีบ้านของคุณจะผ่อนชำระหมดภายในระยะเวลา 23 ปี กับอีก 10 เดือน เร็วขึ้นร่วม 7 ปี เหมือนกัน และลดดอกเบี้ยลงได้ร่วมๆ 8 แสนกว่าบาท

ทำไม? วิธีแรก ถึงหมดเร็วกว่า และลดดอกเบี้ยได้มากกว่า

ไม่มีอะไรมากครับ เพราะวิธีแรกนั้น เราตัดต้นไปทุกเดือน แม้จะนิดหน่อยแค่ 1,800 บาทก็ตาม เมื่อต้นลดลงทุกเดือน เวลาก็สั้นลง ดอกเบี้ยก็ลดลงตามไปด้วยเท่านั้นเอง

ทีนี้หากใครอยากผ่อนบ้านหมดเร็วกว่าในตัวอย่างที่ผมนำเสนอ ก็สามารถปรับแผนการผ่อนชำระของคุณได้ครับ ก็อย่างที่บอก ยิ่งโปะเยอะก็ยิ่งหมดเร็ว

หัวใจสำคัญของวิธีการข้างต้นก็คือ กรุณาบอกธนาคารด้วยว่า เงินที่คุณนำฝากเข้าไปเพ่ิมนั้น เพื่อต้องการตัดเงินต้นที่เป็นหนี้บ้านอยู่ อย่าไปนำฝากเข้าไปในบัญชีออมทรัพย์เฉยๆ เพราะถ้าไม่บอกธนาคาร เขาก็จะตัดยอด 18,000 บาทเหมือนเดิมนะครับ ต้องบอกด้วยว่าจะตัดหนี้ด้วยยอด 19,800 บาท (กรณีรายเดือน) และ 36,000 บาท (กรณีรายปี)

มิฉะนั้น จะไม่เกิดผลลัพธ์ในแบบที่ต้องการนะครับ

อย่างไรก็ดี อย่าเร่งการผ่อนชำระมากเสียจนแผนการเงินในชีวิตประจำวันเสียหายนะครับ

สำหรับท่านที่ห่วงเรื่องดอกเบี้ย ไม่อยากเสียดอกเบี้ยเยอะ อีกแนวทางหนึ่งที่พอจะทำได้เหมือนกัน ก็คือ การรีไฟแนนซ์บ้าน

การรีไฟแนนซ์ ก็เหมือนการทำสัญญากู้ยืมเงินกันใหม่ โดยเราสามารถทำสัญญาใหม่ได้ หลังจากผ่อนชำระเกิน 3 ปีไปแล้ว (อันนี้ต้องดูเงื่อนไขจดจำนองของแต่ละธนาคารอีกที)

ถ้าปัจจุบันบ้านที่เราผ่อนอยู่นั้นมีอัตราดอกเบี้ยที่สูง ท่านก็อาจพิจาณาขอรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารเดิม หรือธนาคารใหม่ (กดดันธนาคาเดิมที่ใช้อยู่ 555) เพื่ออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ต่ำกว่า

บางท่านอาจบอกว่า วิธีการนี้จะทำให้ระยะเวลาผ่อนชำระยาวออกไปอีก อันนี้ต้องบอกว่าไม่จริงนะครับ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเราจะตกลงกับธนาคาร สัญญาบนโลกนี้เขียนยังไงก็ได้ครับ ตราบใดที่สองฝั่งคู่สัญญายอมรับและไม่ผิดกฎหมาย

สำคัญ คือ การร่นเวลาผ่อนชำระในสัญญาใหม่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของเรานะครับ ถ้าไม่ติดปัญหาตรงนี้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ในมุมมองของผม บ้านน้ันถ้าผ่อนหมดเป็นของเราเร็วๆได้ก็ดีครับ แต่ถ้าการเพ่ิมยอดส่ง ทำให้เป็นภาระเพิ่ม การรักษากติกาผ่อนชำระตามเงื่อนไขไปก่อน ก็เป็นเรื่องที่ไม่เสียหายจนเกินไปนัก

สิ่งสำคัญ คือ คุณทำบ้านของคุณ ให้เป็น “บ้าน” จริงๆ หรือเปล่า หรือเป็นแค่ที่พักเอาแรง เพื่อพรุ่งนี้จะได้ตื่นไปวิ่งไล่ตามหาเงินอีกครั้ง

หวังว่าคงมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ

ใส่ความเห็น