“ข้าวหลามเจ้านี้ นอกจากยาวเหมือนหลอดนีออนแล้ว ยังมี อย. ด้วย” คุณเอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ บอก
ไม่เพียงบอกเฉยๆ ยังพาผมกับคณะไปถึงแหล่งผลิตเพื่อชิมข้าวหลามด้วย ซึ่งต้องเดินทางไปถึงจังหวัดน่าน ข้าวหลามที่ว่านี้มีชื่อเป็นทางการว่า ข้าวหลามป้าเพ็ญ ตั้งอยู่ที่ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน
ผู้ใดไปถึงน่านแล้วอยากกินข้าวหลามป้าเพ็ญ ทำได้อย่างเดียวคือต้องไปถึงแหล่งผลิต เพราะตลาดที่มีข้าวหลามขายอยู่ในตัวเมืองน่านนั้น เป็นของเจ้าอื่น เพราะข้าวหลามป้าเพ็ญ ทำวันต่อวัน ทำตามคนสั่งซื้อ จึงขายหมดทุกวัน เมื่อเราไปถึงที่หมายก็ได้กินข้าวหลามกันเลย ที่ต้องใช้คำว่ากันเลยก็เพราะไปกันหลายคน ข้าวหลามป้าเพ็ญกระบอกยาว 80 เซนติเมตร ปอกเปลือกออกจะเห็นผิวสีขาว มองไกลๆ จะต้องนึกว่าเป็นหลอดนีออน ก็เพราะอย่างนี้ บางคนจึงเรียกข้าวหลามป้าเพ็ญว่า ข้าวหลามแจ้ง แจ้ง แปลว่า สว่าง นั่นเอง ข้าวหลามป้าเพ็ญมีขนาดยาวก็จริง แต่ถ้าผู้ใดไม่อยากถือกระบอกยาว ที่ตัดเป็นท่อนสั้นๆ ก็มี ยาวท่อนละประมาณ 15 เซนติเมตรเท่านั้น ปอกกินง่ายเพราะไม้ไผ่ที่บรรจุข้าวเหนียวถูกเหลาเสียจนบาง เพียงใช้มือดึงก็สามารถมองเห็นเนื้อข้าวหลามแล้ว เป็นข้าวหลามที่ไม่ได้มีแต่ข้าวเหนียว แต่มีไส้หลายไส้ให้เลือก เช่น ไส้มะพร้าว ไส้เผือก ไส้ถั่วดำ ไส้กุ้ง ไส้สังขยา ชอบกินไส้อย่างไหนก็เลือกอย่างนั้น เพราะกินทุกไส้คงไม่ไหว
ไม้ไผ่ที่นำมาเผาทำข้าวหลามมีชื่อโดยตรงเลยว่า ไม้ข้าวหลาม เป็นไม้ไผ่ที่มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับมาเผาทำข้าวหลามเพราะเปลือกบาง ข้อห่าง แล้วยังหาได้ไม่ยากในเขตจังหวัดน่าน อีกทั้งยังมีขนาดพอดีสำหรับนำมาทำข้าวหลาม คือไม่ใหญ่มากเหมือนข้าวหลามที่หนองมน
ป้าเพ็ญซึ่งเป็นเจ้าของโดยตรง ทำข้าวหลามขายมานานหลายสิบปีแล้ว คือตั้งแต่เป็นสาว
ป้าเพ็ญมีลูก 3 คน เป็นผู้ชายหมด ลูกคนโตและคนรองไปประกอบอาชีพอย่างอื่น ส่วนคนเล็กชื่อ เอกสิทธิ์ นาคอ้วน หรือ เต่า ได้กลับมารับมรดกทำอาชีพเผาข้าวหลามขาย
เต่า ชายหนุ่มวัย 34 ปี (ยังโสด) เล่าถึงชีวิตการประกอบอาชีพทำข้าวหลามขายให้ผมฟังคร่าวๆ ว่า เกิดมาก็พบว่าแม่ (ป้าเพ็ญ) ทำข้าวหลามขายอยู่แล้ว ตัวเองจึงเคยชินกับการทำข้าวหลามมาตั้งแต่เด็ก จนไม่รู้สึกว่าข้าวหลามจะสร้างอาชีพที่ดีให้กับตัวเองได้ เต่าจึงหันหลังให้ข้าวหลาม โดยไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เริ่มอาชีพที่กรุงเทพฯ ด้วยหน้าที่เป็นกราฟิกอาร์ตที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ทำงานอยู่กรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายสูง บางเดือนจึงไม่พอใช้ จึงตัดสินใจกลับมาช่วยแม่ทำข้าวหลามขาย โดยดัดแปลงบางอย่างให้ดีขึ้น เช่น จากการที่เคยใช้วิธีเผาข้าวหลามแบบเดิม ได้หันมาทำเตาเผาใหม่ เตาเผาเป็นเหล็กทรงกลม นำกระบอกไม้ไผ่ที่บรรจุข้าวเหนียวและไส้เรียบร้อยแล้ว วางตั้งเป็นวงกลมตามขอบภายในเตา แล้วใส่ถ่านตรงกลางก่อนใช้ฝาปิด
วิธีนี้ทำให้ข้าวหลามสุกสม่ำเสมอทั้งกระบอก อีกทั้งยังประหยัดถ่านด้วยเป็นเตาเผาข้าวหลามที่เขาคิดขึ้นเอง แล้วไปจ้างให้ช่างเหล็กทำให้ เหตุที่ข้าวหลามป้าเพ็ญอร่อยได้ก็เพราะแม่ปรับปรุงดัดแปลงมาจากข้าวหลามเค็มๆ ที่เมืองน่านเคยมี ตอนแม่ทำข้าวหลามขายในระยะแรกๆ จะขายเฉพาะหน้าบ้านหรืออย่างดีก็เอาไปขายที่ตลาดในเมือง ทว่าในปัจจุบันจะมีคนมาสั่งข้าวหลามถึงบ้านเพื่อเอาไปในงานเลี้ยงบ้าง ไปขายต่อบ้าง จะมาสั่งไปกินหรือไปขาย เต่าบอกว่า ขายเท่ากัน คือกระบอกละ 50 บาท หรือจะให้ตัดเป็นท่อนๆ ก็ได้ ราคาท่อนละ 15 บาทถ้ามีคนสั่งข้าวหลามมามากๆ ก็จะใช้วิธีหาชาวบ้านมาช่วยเหลา เพราะเป็นงานที่ต้องใช้คนมากๆเขาบอกให้เรารู้อีกว่า ไม้ไผ่ทำข้าวหลามจะมีชาวบ้านตัดจากป่าชุมชนมาส่ง เรื่องไม้ไผ่ไม่มีปัญหา เพราะมีจำนวนเพียงพอ แต่มะพร้าวมีปัญหาบ้างเพราะถ้าจะต้องใช้มากๆ ต้องสั่งมะพร้าวถึงประจวบคีรีขันธ์ เพราะมะพร้าวที่น่านมีน้อยมีจำนวนจำกัด พวกเราหลายคนกินข้าวหลามจนอิ่ม จนเริ่มเป็นห่วงตัวเองว่า เย็นนี้คงกินข้าวไม่ลง
สุดท้าย เต่า บอกว่า ตนจะไม่กลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ อีกแล้ว เพราะสู้อยู่บ้านทำข้าวหลามขายไม่ได้ และมีโอกาสรวยได้เหมือนกัน ถ้าวางแผนการขายดีๆ ผู้ใดสนใจอยากสอบถามรายละเอียดมากกว่านี้ หรืออยากไปกินก็ติดต่อกับเขาได้ที่ โทรศัพท์ (083) 575-4302
Cr.ไมตรี ลิมปิชาติ /นิตยสารเส้นทางเศรษฐี