พืชต่างๆ ในโลกนี้มีมากมายหลายประเภท หลายชนิดมากมายเหลือประมาณ แยกแยะได้เป็นหลายชนิด หลายวงศ์ตระกูล การจัดชั้นของพืช เริ่มตั้งแต่สูงสุดเรียกว่า อาณาจักรพืช (Plant Kingdom) ส่วนหรือภาค (Phylum) ลำดับชั้น (Class) อันดับ (Order) วงศ์ (Family) สกุล (Genus) ชนิดหรือพันธุ์ (Species) ลำดับพฤกษศาสตร์ที่เอ่ยถึงบ่อยๆ คือ วงศ์ หรือ แฟมิลี่ (Family) เป็นลำดับที่แบ่งแยกให้เห็นความเหมือน ความแตกต่างกันของพืช และทำให้รู้ว่ามีความเกี่ยวโยงด้านพันธุกรรมพืชกันอยู่ ยังมีพืชหลายชนิดที่ศึกษาค้นคว้าไม่ถึง ว่าเป็นพืชในวงศ์ ในสกุลเดียวกัน ก็จำเป็นที่ต้องค้นคว้า ศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์กันต่อไป
มีรุ่นพี่เคยเล่าให้ฟังว่า นักเลงสุรา ที่มักพบว่ากินเหล้าได้เยอะได้นาน เก่ง ประเภทที่พรรคพวกเรียก ปิศาจสุรา เป็นคอทองแดงนั้น ได้แอบกระซิบว่า เขามักจะอมว่านชนิดหนึ่งไว้ในปาก ให้สังเกตว่าเวลานั่งตั้งวงกินเหล้า มักจะกินเอา กรึ๊บเอาๆๆ ไม่ค่อยเรียกหากับแกล้ม ไม่ค่อยพูดค่อยจา คงกลัวว่านที่อมไว้ในปาก โคนลิ้น หรือกระพุ้งแก้มหลุดหาย หรือลงคอไปก่อนเหล้าหมด ว่านที่เอ่ยถึงเขาเรียกว่า รางจืด หรือว่านรางจืด ทำยังกับว่าจะลงสนามแข่งขันกินเหล้าดีเด่นอย่างนั้น
“รางจืด” เป็นว่านสมุนไพร เป็นไม้ดอกประดับป่า มีพวงช่อสวยงาม เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้ใหญ่ขึ้น มีอายุหลายปีมาก ตราบใดที่เถาต้นไม่ถูกขุดถอน ฟันเผาไหม้ ก็จะเลื้อยเกาะพันต้นไม้อื่นอยู่อย่างนั้น เข้าหน้าฝนก็เจริญแตกยอดแตกใบ แตกเถาเลื้อยพันไม้อื่นยาวไปเรื่อยๆ ถึงปลายฝนก็จะออกดอก เพื่อผสมพันธุ์ติดฝัก แพร่ขยายต้นใหม่ต่อไป เป็นพืชอายุยืนมาก ใบรูปคล้ายหัวใจ หรือรูปไข่ รูปใบขอบขนาน โคนใบมนเว้า ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร มีเส้นใบออกจากโคน 3 เส้น ดอกออกเป็นช่อพวงห้อยลงมา สีม่วงอ่อน หรือสีม่วงอมฟ้า หรือสีคราม มีตาสีเหลืองอ่อนมนแทรกโคนกลีบ ออกช่อละ 3-4 ดอก มีกลีบเลี้ยงรูปจาน ดอกออกเป็นรูปแตรสั้น โคนดอกเป็นหลอดกรวยยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เชื่อมต่อกันเป็นหลอด มีน้ำหวานอยู่ในหลอด กลีบดอกปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 4 อัน เวลาออกดอก เห็นชูช่ออยู่ปลายพุ่มไม้ป่า ดูคล้ายช่อพฤกษารางวัลเกียรติยศ เป็นความงามที่ยากจะหา หรือจะแต่งแต้มเนรมิตขึ้นเองได้ รางจืดจึงเป็น “เทพีแห่งป่า” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
เป็นไม้ที่อยู่ในวงศ์ถั่ว (Legumiceae) สกุลเหงือกปลาหมอ (Acanthaceae) มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปแต่ละถิ่น เช่น จังหวัดยะลา เรียก รางเย็น คาย ปัตตานีเรียก ดุเหว่า นครศรีธรรมราชเรียก ทิดพุด เพชรบูรณ์เรียก ย่ำแย้ แอดแอ สระบุรีเรียก น้ำนอง ภาคกลางเรียก กำลังช้างเผือก ยาเขียว เครือเขาเขียว ขอบชะนาง มีชื่อเรียกของชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนว่า จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั๋งกะล่ะ พอหน่อเตอ แต่โดยส่วนใหญ่ชาวไทยเราเรียก รางจืด หรือว่านรางจืด ที่จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว เพราะหลังติดดอกแล้วจะติดผล เป็นฝักกลม ปลายฝักเป็นจะงอย เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดดำเรียงตัวอยู่ในฝัก สามารถนำไปขยายพันธุ์ หรือเอาไปทำประโยชน์ได้หลายอย่าง
รางจืด เป็นสุดยอดสมุนไพร ทั้งใบ เถา ราก ในส่วนรากมีสรรพคุณทางยามากกว่าใบหลายเท่าตัว รางจืดเป็นยาเย็น ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค ป้องกันพิษภัยต่างๆ ได้อย่างดี อาทิ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ทาพอกบาดแผล รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แก้ผื่นคัน แก้แพ้ ลดน้ำตาลในเลือด ควบคุมโรคเบาหวาน ควบคุมความดันโลหิต ใช้ลดเลิกยาเสพติด ต้านสารอนุมูลอิสระ มะเร็ง และที่สำคัญ รางจืดเป็นยาสมุนไพรสุดยอดของสมุนไพร ในการแก้ถอนพิษต่างๆ ปรุงยาเขียวถอนพิษไข้ ทำลายพิษยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช ถอนพิษแมลง สัตว์พิษต่างๆ ต่อต้าน ถอนพิษยาเบื่อ พิษสารตะกั่ว พิษสารตกค้างในอาหาร ผัก-ผลไม้ แก้เมาค้าง แก้พิษร้อนต่างๆ มากมาย ใช้ใบกึ่งอ่อนกึ่งแก่ หรือรากที่อายุเกิน 1 ปี ขนาดเท่านิ้วชี้มือ รักษาบรรเทาแก้พิษเฉพาะหน้า ก่อนนำส่งไปหาหมอที่โรงพยาบาล รางจืดจึงนับเป็น “ราชาแห่งการถอนพิษ” อย่างแท้จริง
รางจืด เป็นผักรับประทานเป็นอาหาร ยอดอ่อน ดอก ลวกจิ้มน้ำพริก แกงเลียง แกงป่า เวลาจะเก็บยอดเก็บดอก ต้องใช้วิธีปีนต้นไม้ขึ้นไปเก็บ หรือถ้าอยู่บริเวณที่ไม่สูงเกินเอื้อมก็ดึงเถาเก็บเอายอดใบดอกได้ บางสถานที่นำมาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ มีการตัดเถาแต่งพุ่มประจำก็เป็นไม้ประดับที่โชว์อวดรูปทรงของใบ และสีสันยามดอกบาน สวยงามยิ่งนัก มีการเจริญเติบโตเร็วมาก เถามีลักษณะเป็นปล้องกลม เนื้อแข็ง เหนียว สีเขียวสด หรือเขียวเข้ม ไม่มีมือจับ ต้องอาศัยการรัดพันของเถาเอง จึงเป็นเถาที่แข็งแรงมาก ใช้ประโยชน์ในการผูกรัดสิ่งของได้ดี ทั้งราก เถา ใบ เป็นยาสมุนไพร อย่างที่เรียนให้ทราบแล้ว แต่ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่มีประโยชน์ ย่อมมีโทษ หรือมีผลข้างเคียงตามมา เช่นเดียวกับว่านรางจืดนี้ ถ้าไม่ระมัดระวังในการใช้ประโยชน์ ก็มีผลตามมาหลายอย่าง ท่านที่มีการใช้ยารักษาโรคประจำตัวอยู่แล้ว รางจืดเป็นยาถอนพิษ จะทำให้ฤทธิ์ยารักษาโรคอ่อน เสื่อมฤทธิ์ได้ ควรใช้รางจืดเป็นครั้งคราวเมื่อยามจำเป็น ท่านที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน ระวังใช้รางจืดมากเกิน จะเกิดผลน้ำตาลในเลือดต่ำได้ สิ่งของใดที่มีประโยชน์ย่อมแฝงด้วยพิษภัย อันตรายไว้ด้วย รางจืดก็เป็นเช่นเดียวกับสิ่งมีประโยชน์อื่นๆ เช่นกัน “เทพีประจำป่า ราชาแห่งการถอนพิษ”
ขอบคุณ เทคโนโลยีชาวบ้าน