หญ้าปักกิ่ง หญ้าเทวดาที่เป็นความหวังของผู้ป่วยโรคมะเร็ง

หญ้าปักกิ่งหรือสมุนไพรที่ได้รับสมญานามว่าเป็น “หญ้าเทวดา” ซึ่งนิยมนำมาใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มักจะมีอาการข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด

 

 

จนถึงกับมีเรื่องเล่าในปีพ.ศ.2527 กันว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งรายหนึ่งดื่มน้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่งสามารถยืดชีวิตไปได้อีกระยะหนึ่ง จึงทำให้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยคุณสมบัติของหญ้าปักกิ่งนี้

หญ้าปักกิ่งมีชื่อภาษาจีนที่เรียกว่า “เล้งจือเช่า” เป็นยาที่มีรสจืดและเย็น เมื่อนำมาวิจัยแล้วพบว่าลำต้นของหญ้าปักกิ่งมีสารสำคัญที่ชื่อ “ไกลโคสฟิงโกไลปิดส์” (จี 1 บี) ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านมและลำไส้ใหญ่ มีฤทธิ์เหนี่ยวนำเอนไซม์ (DT-Diaphorase) ช่วยทำลายสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งอย่าเช่นสารอัลฟ่าท็อกซิน รวมถึงช่วยปรับระบบภูมิคุ้มกันและต้านอนุมูลอิสระภายในร่างกาย

การนำหญ้าปักกิ่งมาแปรรูปเป็นยาสมุนไพรนั้น จะต้องเก็บเอาหญ้าปักกิ่งทั้งต้นและราก โดยคัดเอาใบที่สมบูรณ์เท่านั้นแล้วเอาใบที่ซีดเหลืองออกก่อน จากนั้นนำมาล้างเอาเศษดินที่ติดมากับรากออกให้สะอาดแล้วล้างน้ำอีก 2 ครั้ง ผึ่งทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณครึ่งเซนติเมตร ตากแดดทิ้งไว้ 5 – 7 วัน หมั่นเหลี่ยให้ทั่วและเกลี่ยบ่อยๆ จนแห้งสนิท จึงนำมาบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อทำเป็นยาแคปซูล ยาลูกกลอน ยาอัดเม็ด หรือยาชงดื่มต่อไป

การเก็บหญ้าปักกิ่งหรือหญ้าเทวดาจะต้องเลือกต้นที่มีอายุเหมาะสม กล่าวคือ ถ้าเป็นหญ้าปักกิ่งที่ปลูกจากเมล็ดจะต้องมีอายุ 5 เดือนขึ้นไป ส่วนหญ้าปักกิ่งที่ได้จากการชำกิ่งจะต้องมีอายุ 3 เดือนขึ้นไป จึงจะมีสารกลุ่มไกลโคสฟิงโกไลปิดส์ที่ช่วยบรรเทาโรคมะเร็งนั่นเอง

ทั้งนี้การใช้หญ้าปักกิ่งเป็นสมุนไพรรักษาโรคนั้น ผู้ป่วยควรจะปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อให้เกิดผลดีต่อร่างกายและสุขภาพมากที่สุด รวมถึงควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ประจำตัวอีกด้วย

 

ใส่ความเห็น