ผู้ประกันตน อายุครบ 55 ปี รับเงินรายเดือนตลอดชีวิต เช็กจะได้เงินกี่บาท

 

มนุษย์เงินเดือน อายุครบ 55 ปี รับเงินชราภาพรายเดือนตลอดชีวิต ผู้ประกันตนมีบุตร รับเงินสงเคราะห์บุตร เดือนละ 800 บาท

มนุษย์เงินเดือนที่เป็นผู้ประกันตนในกองทุนประสังคม เมื่อถึงยามเกษียณก็จะได้รับ “เงินชราภาพ” ซึ่งก็คือเงินที่สะสมจากการทำงาน หรือเงินที่ถูกหักสะสมค่าประกันสังคมในทุกๆ เดือน จำนวน 5% ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ตั้งแต่ 250-750 บาท

โดยมีเงื่อนไขการเกิดสิทธิ เมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และได้ลาออกจากงาน สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนหรือเสียชีวิต ส่วนจะได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญกรณีชราภาพนั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน

โดยในส่วนของ “เงินบำเหน็จชราภาพ” คือ เงินที่ผู้ประกันตนจะได้รับเป็นเงินก้อน ส่วน “เงินบำนาญชราภาพ” คือ เงินที่ผู้ประกันตนจะได้รับรายเดือนไปตลอดชีวิต

กรณีเงินบำนาญชราภาพ
– ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับบำนาญชราภาพในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

– ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน

– ผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับจากเดือนที่มีสิทธิได้รับบำนาญให้จ่ายบำเหน็จแก่ทายาท เป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตายคูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับบำนาญถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน

 

 

 

 

ตัวอย่างการคำนวณ

หากผู้ประกันตนทำงานได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท มาตลอด และส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถขอรับเงินบำนาญชราภาพได้ โดยมีวิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ เป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้อัตราเงินบำนาญ 20%
ส่วนที่ 2 และในปีที่ 16 – ปีที่ 20 (5 ปี) จะได้รับอัตราเงินบำนาญ เพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อปี
รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปี จะได้ 20% + 7.5% = 27.5%

ดังนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน = 27.5% ของ 15,000 บาท คือ 4,125 บาทต่อเดือนตลอดชีวิต

กรณีบำเหน็จชราภาพ (จ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว)
– ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่จ่ายในกรณีชราภาพ เฉพาะส่วนของผู้ประกันตนเพียงฝ่ายเดียว

– ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหน

นอกจากนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ที่มีบุตรยังมีสิทธิได้รับ “เงินสงเคราะห์บุตร” ช่วยเหลือค่าครองชีพโดยจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรจำนวน 800 บาทต่อเดือน ซึ่งจะโอนเงินเข้าบัญชี ผ่านระบบพร้อมเพย์ทุกๆ สิ้นเดือน แต่หากตรงกับวันหยุด หรือ วันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะทำการโอนให้ล่วงหน้าก่อนไม่เกินเที่ยงคืน

สำหรับรายละเอียดของการรับเงินสงเคราะห์บุตรมีดังนี้

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ
-ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39
-จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน สิทธิที่ท่านจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน
-ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
-อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

 

 

 

 

ใส่ความเห็น