ชี้แจงละเอียดยิบ ! ลาออก เลิกจ้าง ว่างงาน อย่าลืมประกันสังคม 2561
ต้องทราบก่อนว่ากองทุนประกันสังคม ที่เราจ่ายเงินไป 5% นายจ้างสมทบ 5% รัฐบาลสมทบ 2.75% ในทุกๆเดือน กองทุนนำไปบริหารอย่างไรบ้าง
กองทุนประกันสังคม จะถูกแบ่งเป็นสิทธิประโยชน์ 3 ส่วน
– เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร
– สงเคราะห์บุตร และชราภาพ
– ว่างงาน*
การจะขอรับประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคมตามข้อสามได้นั้น คุณต้องจ่ายเงินกับประกันสังคมมาครบ 6 เดือน ในระยะเวลา 15 เดือน (ไม่ต้องติดต่อกันก็ได้) เป็นผู้ว่างงานที่ไม่มีความผิดตามกฎหมาย (เช่นโดนไล่ออกจากการขาดงานนานเกิน 7 วัน ละทิ้งหน้าที่ปฏิบัติงาน เหล่านี้จะไม่สามารถขอสิทธิประโยชน์นี้ได้) ว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป (ภายใน 7 วันแรก จะไม่ได้รับเงิน เช่นว่างงานระหว่างเริ่มงานใหม่ 15 วัน จะได้รับเงินชดเชยแค่ 8 วัน) และต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานกับสำนักงานจักหางานภายใน 30 วัน จากวันที่ออกจากงาน (ถ้ายื่นเรื่องหลังจากนั้นประโยชน์ทดแทนจะลดลง) หลังจากนั้นสามารถนำเอกสารทั้งหมดไปขอรับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานได้ที่สำนักงานประกันสังคม
-จ่ายประกันสังคม 6 เดือน ในเวลา 15 เดือน
-ไม่ถูกเลิกจ้างจากการทำความผิดตามกฎหมาย
-ว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
-ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานภายใน 30 วัน (ออนไลน์)
-เตรียมเอกสารทั้งหมด ไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคม
-รายงานตัวเดือนละหนึ่งครั้ง (ออนไลน์) ห้ามลืม!!
-เงินจะโอนเข้าบัญชีภายใน 7 – 10 วัน
การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน
เราสามารถขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงานผ่านอินเตอร์เน็ตได้แล้ว ไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานจัดหางานแต่อย่างใด สะดวกมากๆ โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน https://empui.doe.go.th ภายในจะมีรายละเอียดและขั้นตอนการใช้งานระบบขึ้นทะเบียนทั้งหมด หลังจากขึ้นทะเบียนในระบบเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมปริ้นหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน และแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2–01/7) เพื่อนำไปยื่นที่ประกันสังคมต่อไป
ขั้นตอนการใช้งานระบบขึ้นทะเบียนออนไลน์ของกรมการจัดหางาน https://empui.doe.go.th
การเตรียมเอกสารสำหรับยื่นเรื่องกับสำนักงานประกันสังคม
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2–01/7) พิมพ์จากเว็บไซต์กรอกไปให้เรียบร้อย
2. หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน (พิมพ์จากเว็บไซต์)
3. บัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนา
4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร(ประเภทออมทรัพย์) สำหรับรับเงิน
5. สำเนาหนังสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6 –09) (ถ้ามี)
6. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างที่ให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
ข้อ 5. แล้ว ข้อ 6. เราก็ไม่มีเหมือนกัน
ยื่นเอกสารที่ไหน
กรุงเทพฯ ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ที่ไหนก็ได้ มี 12 แห่ง
ภูมิภาค ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา
เราไปยื่นเรื่องที่สำงานประกันสังคมกรุงเทพฯพื้นที่ 4 สีลม ใกล้ BTS MRT เดินทางสะดวกดี ใช้เวลาไม่นาน เราไปช่วงบ่ายสาม ประมาณ 10 นาทีก็เสร็จ ยื่นเอกสารเสร็จจะได้แบบรับเรื่องฯมาหนึ่งใบ(เป็นกระดาษแผ่นเล็กๆ)เก็บไว้เป็นหลักฐาน
การรายงานตัว
หลังจากยื่นเอกสารเรียบร้อย เราจะต้องรายงานตัวการว่างงานเดือนละ 1 ครั้ง ภายในเว็บไซต์จะแจ้งวันที่นัดรายงานตัวแต่ละเดือน โดยเข้าไปที่เว็บไซต์เดิม กดเข้าไปในหัวข้อรายงานตัว สามารถรายงานตัวล่วงหน้าและล่าช้าได้ 7 วัน (+7 วัน ,- 7วัน)
ได้เงินเมื่อไหร่และเท่าไหร่
หลังการรายงานตัว สำนักงานประกันสังคม จะโอนเงินเข้าบัญชีของเราภายใน 7 – 10 วัน (เดือนล่าสุดเรารายงานตัวครั้งที่1วันที่ 14 มิ.ย. เงินเข้าวันที่ 19 มิ.ย. เร็วมากๆ ยอดเข้ามา 5,700 บาท โดยการจ่ายเงินเริ่มนับจาก 7 วัน หลังจากออกจากงาน คือเราออกจากงานวันที่ 31 เมษายน จะได้เงินของวันที่ 8 พ.ค. – 14 มิ.ย. จำนวน 38 วัน วันละ 150 บาท)
ประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้ จะแบ่งเป็นสองกรณี
– กรณีลาออกจากงาน จะได้รับเงิน 30% ของรายได้(เงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) เช่นเงินเดือน 25,000 บาท จะได้รับเงินทดแทน 4,500 บาทต่อเดือน คือ 30% จาก 15,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
– กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงิน 50% ของรายได้(เงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
**ภายใน 7 วันแรกของการว่างงานจะไม่ได้รับเงินชดเชย (ข้อมูลจาก 1506)
เมื่อไหร่ต้องส่งเงินประกันสังคมต่อ (มาตรา 39)
หลังจากออกจากงาน หากคุณยังไม่ได้เริ่มงานใหม่ หรือ เปลี่ยนสายไปทำอาชีพอิสระ หากต้องการยื่นเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39 และเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ต้องยื่นคำขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 6 เดือน โดยนับจากวันที่ออกจากงาน (เช่น เราลาออกเมื่อวันที่ 30 เมษายน และยังไม่มีงานใหม่ ต้องทำการยื่นคำขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 6 เดือน หรือก่อนวันที่ 31 ตุลาคม)
เอกสารการขึ้นทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคม มาตรา 39
1. แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1–20)
2. บัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนา
3. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร(ประเภทออมทรัพย์) เพื่อหักเงินจากบัญชีเดือนละ 432 บาท (หรือจะจ่ายด้วยเงินสดที่สำนักงานประกันสังคม ธนาคาร ไปรษณีย์ก็ได้)
(ถ้าเป็นธนาคารไทยพานิชย์และธนาคารกรุงเทพ ต้องขอรับหนังสือยินยอมให้หักเงินจากบัญชีเงินฝากจากธนาคาร)
มีปัญหาสอบถาม ศูนย์บริการข้อมูลประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง
เราเคยโทรไปมาแล้ว เจ้าหน้าที่บริการดีมาก แต่อาจต้องรอหน่อย
ถ้ามีข้อผิดพลาด ข้อมูลไม่อัพเดทตรงไหนคอทเม้นต์คุยกันได้นะคะ หวังว่าเรื่องนี้คงจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน เพราะตอนเรายื่นเรื่องก็งงมากเหมือนกันเลยเอามาแชร์ให้ฟังกัน
ขอบคุณ สมาชิกพันทิป ที่ได้มาแชร์ข้อมูลดี ๆ นะครับ
ที่มา https://pantip.com/topic/37849132