การกรวดน้ำ คือ การตั้งใจอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่เราได้ทำไว้แล้วไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วพร้อมทั้งรินน้ำให้ไหลลงไปที่พื้นดินหรือที่รองรับ แล้วเอาไปเทที่พื้นดินอีกต่อหนึ่งหรือรดที่โคนต้นไม้ก็ได้
เพื่อให้จำง่ายไม่สับสน จึงขอแยกเป็นข้อๆ ดังนี้
1. การกรวดน้ำมี 2 วิธี คือ
-กรวดน้ำเปียก คือ ใช้น้ำเป็นสื่อ รินน้ำลงไปพร้อมกับอุทิศผลบุญกุศลไปด้วย
-กรวดน้ำแห้ง คือ ไม่ใช้น้ำ ใช้แต่สิบนิ้วพนมอธิษฐาน แล้วอุทิศผลบุญกุศลไปให้
2. การอุทิศผลบุญมี 2 วิธี คือ
อุทิศเจาะจง ได้แก่ การออกชื่อผู้ที่เราจะให้ท่านรับ เช่น ชื่อพ่อ แม่ ลูก หรือใครก็ได้
อุทิศไม่เจาะจง ได้แก่ การกล่าวรวมๆกันไป เช่น ญาติทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น ทางที่ถูกควรทำทั้งสองวิธี คือผู้ที่มีคุณหรือมีเวรต่อกันมาก เราก็ควรอุทิศเจาะจง ที่เหลือก็อุทิศรวมๆ
3. น้ำกรวด
ควรเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีสีและกลิ่น และเมื่อกรวดก็ควรรินลงในที่สะอาดและไปเทในที่สะอาด และที่สำคัญ อย่ารินลงกระโถนหรือที่สกปรก
4. น้ำเป็นสื่อ – ดินเป็นพยาน
การกรวดน้ำมิใช่จะอุทิศไปให้ผู้ตายกินน้ำ แต่ใช้น้ำเป็นสื่อและใช้แผ่นดินเป็นพยาน ให้รับรู้ในการอุทิศส่วนบุญ
5. ควรกรวดน้ำตอนไหนดี ?
ควรกรวดน้ำทันทีในขณะที่พระอนุโมทนาหรือหลังทำบุญเสร็จ แต่ถ้าไม่สะดวกจะทำตอนหลังก็ได้ แต่ทำในขณะนั้นดีกว่า ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
– ถ้ามีเปรตญาติมารอรับส่วนบุญ ท่านก็ย่อมได้รับในทันที
– การรอไปกรวดที่บ้านหรือกรวดภายหลัง บางครั้งก็อาจลืมไป ผู้ที่เขาตั้งใจรับก็อด ผู้ที่เราตั้งใจจะให้ก็ชวดไปด้วย
6. ควรรินน้ำตอนไหน ?
ควรเริ่มรินน้ำพร้อมกับตั้งใจอุทิศ ในขณะที่พระผู้นำเริ่มสวดว่า “ยะถาวาริวะหาปูรา…” และรินให้หมดเมื่อพระว่ามาถึง “…มะณิโชติระโส ยะถา…” พอพระทั้งหมดรับพร้อมกันว่า “สัพพีติโย วิวัชชันตุ…” เราก็พนมมือรับพรท่านไปจนจบ จึงจะถือว่าถูกต้อง
7. ถ้ายังว่าบทกรวดน้ำไม่เสร็จ จะทำอย่างไร ?
ก็ควรใช้บทกรวดน้ำที่สั้นๆหรือใช้บทกรวดน้ำย่อก็ได้ เช่น “อิทัง โน ญาตีนังไหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย ขออุทิศส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ …. (ออกชื่อผู้ล่วงลับ) …. และญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด”
หรือจะใช้แต่ภาษาไทยอย่างเดียวก็ได้ว่า “ขออุทิศส่วนบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้วนี้ จงสำเร็จแก่ พ่อ แม่ ญาติ ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณเจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอจงได้รับส่วนบุญกุศลครั้งนี้โดยเร็วพลัน และโดยทั่วถึงกันเทอญ” ส่วนบทยาวๆ เราควรเอาไว้กรวดส่วนตัว หรือกรวดในขณะทำวัตรสวดมนต์รวมกันก็ได้
8. อย่าทำน้ำสกปรกด้วยการเอานิ้วไปรอไว้
ควรรินให้ไหลเป็นสายไม่ขาดระยะ และไม่ควรใช้วิธี เกาะตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นทางเหมือนเล่นงูกินหาง ถ้าเป็นในงานพิธีต่างๆ ให้เจ้าภาพหรือประธาน รินน้ำกรวดเพียงคนเดียวหรือคู่เดียวก็พอ คนนอกนั้นก็พนมมือตั้งใจอุทิศไปให้
9. การทำบุญและอุทิศส่วนบุญ
ควรสำรวมจิตใจ อย่าให้จิตฟุ้งซ่าน ปลูกศรัทธา ความเชื่อ
และความเลื่อมใสให้มั่นคงในจิตใจ ผลของบุญและการอุทิศส่วนบุญย่อมมีอานิสงค์มาก
ผลบุญที่เราอุทิศไปให้ ถ้าไม่มีใครมารับก็ยังคงเป็นของเราอยู่ครบถ้วน ไม่มีผู้ใดจะมาโกงหรือแย่งชิงไปได้เลย
10. บุญเป็นของกายสิทธิ์
ยิ่งให้ยิ่งมาก ยิ่งตระหนี่ยิ่งน้อย ยิ่งอุทิศให้คนอื่นหมดเลยเราก็ยิ่งจะได้บุญหมดเลย