แชร์เก็บไว้เลย!! “การพกปืน” ไม่ให้ผิดกฎหมาย ทั้งประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่ควรรู้ !!!
“ปืน” เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ป้องกันตัว ที่หลายๆอาชีพจำเป็นต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ ทหาร อาสา ฯลฯ แต่ถึงแม้ปืนจะมีขายอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีกฎหมายควบคุมในการพกพาและมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง ทั้งสำหรับบุคคลทั่วไป และสำหรับเจ้าหน้าที่ หากไม่ทำตามกระบวนการขั้นตอนอย่างถูกต้อง ก็ถือว่าผิดกฎหมาย
วันนี้เราได้นำเนื้อหาเอกสารน่าสนใจ เกี่ยวกับ การปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจค้นบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาฝากกันค่ะ โดยมีเนื้อหา ดังนี้
“กองวิจัยและวางแผน ส่วนราชการกรมตำรวจ ที่ 0503 ( ส ) / 27663 วันที่ 30 กันยายน 2525
เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจค้นบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณสถาน
ผบช. , ผบก. , หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าทุกหน่วยงาน ตามบันทึก ตร.ที่ 0501 /30476 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2517 กำหนดแนวทางในการปฏิบัติของข้าราชการตำรวจ ให้ใช้ดุลพินิจในการตรวจค้น จับกุมผู้พกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณสถานให้เป็นการถูกต้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ได้บัญญัติไว้ ต่อมาได้มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 ทวิ แห่ง พรบ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ขึ้นอีก ในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบันยังคงมีปัญหาเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ โดยมีเพียงใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ( ป. 4 ) แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ( ป. 12 )ก็มักจะควบคุมตัวมาดำเนินคดีทุกรายไป ทำให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกตรวจค้นและจับกุม เพื่อให้การปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้อง จึงขอซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา 8 ทวิ แห่ง พรบ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3 กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่กรณีต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่ากรณีใด
ห้ามมิให้พกพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยหรือพาไปในที่ชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ หรือการอื่นใด ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กฎหมายยังคงเปิดโอกาส ให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์นำเอาอาวุธปืนที่ตนมีไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาติดตัวไปเพื่อป้องกันตัวและทรัพย์สินได้ ภายในขอบเขตที่กฎหมายให้กระทำได้ตามแนวคำชี้ขาดไม่ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาจากเจ้าพนักงานซึ่งถือว่าโดยสภาพเป็นกรณีที่ต้องมีอาวุธปืนติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ มีแนวทางพอสรุปได้ดังนี้คือ
1. ถ้าได้นำอาวุธปืนใส่กระเป๋าเก็บไว้ในช่องเก็บของท้ายรถ ซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ทันทีทันใด
2. เอาอาวุธปืนใส่กระเป๋าใส่กุญแจแล้ววางไว้ในรถซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ในทันทีทันใด
3. ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัด จำนวนเป็นหมื่นๆ นำติดตัวมาแล้วมีอาวุธปืนได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนแล้ว ใส่ช่องเก็บของหน้ารถยนต์เพื่อป้องกันตัวและทรัพย์สิน
4. ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัด นำอาวุธปืนติดตัวมาด้วย โดยแยกอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนออกจากกัน ใส่กระเป๋าเอกสารไว้ที่พนักเบาะหลังรถยนต์
5. ห่ออาวุธปืน และแหนบบรรจุกระสุนปืน ( แมกกาซีน ) แยกออกคนละห่อเก็บไว้ในกระโปรงรถยนต์ซึ่งใส่กุญแจ
จึงแจ้งมาเพื่อทราบและแจ้งให้ข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อใช้เป็นดุลพินิจประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้ต่อไป
ลงชื่อ พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์ ( ณรงค์ มหานนท์ )
รองอ.ตร.ปป.ปร.ท.อ.ตร.
ลองๆ ทำตามดู น่าจะยังใช้บังคับอยู่ครับ …
ทีนี้มาดูผล ของการปฏิบัติตามแบบนี้กันดูบ้างครับ
เรื่องทั้งหมดนี้มีที่มาสามารถอ้างอิงได้ โดยผมจะลงที่มาเอาไว้ให้ด้วยครับ เพื่อจะได้ไปเปิดค้นดูได้ถึงที่มาที่ไป…
เรื่องที่ ๑ ผู้ต้องหาถูกตำรวจจับได้ในขณะขับรถยนต์ไปเก็บเงินลูกค้าที่ผู้ต้องหาขายยาที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นเงินจำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท ผู้ต้องหาอ้างว่านำอาวุธปืนติดตัวไปเพื่อป้องกันทรัพย์สิน ปืนดังกล่าวผู้ต้องหาได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้โดยถูกต้องแล้ว พร้อมกับแสดงเงินสด ๓๕,๐๐๐ บาท ให้พนักงานสอบสวนดูไว้เป็นหลักฐานปรากฎว่าตำรวจค้นปืนได้จากที่เก็บของด้านหน้าซ้าย ของรถยนต์คันที่ผู้ต้องหาขับไป อธิบดีกรมอัยการชี้ขาดว่า ผู้ต้องหาไม่ได้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย แต่ได้เก็บไว้ในที่เก็บของมิดชิด และการที่ผู้ต้องหาไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก โดยพาอาวุธปืนซึ่งได้รับอนุญาตให้มี และใช้แล้วติดตัวไปด้วยนั้น นับว่ามีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์จึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ พรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๘ ทวิ , ๗๒ ทวิ ฯลฯ
เรื่องที่ ๒ .. ผู้ต้องหาถูกจับได้พร้อมปืนสั้นขนาด .๓๘ มีทะเบียนแล้ว กับมีกระสุนในลูกโม่ ๒ นัด และกระสุนอยู่ในซองกระสุนอีก ๒๘ นัด ของทั้งหมดอยู่ในกระเป๋าถือใส่ไว้ในกระโปรงท้ายรถยนต์ของผู้ต้องหา
อธิบดีกรมอัยการชี้ขาดว่า ผู้ต้องหานำอาวุธปืนของตนที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้แล้ว ใส่ไว้ในกระเป๋าถือ และเอากระเป๋าถือใส่ไว้ในกระโปรงรถยนต์ซึ่งใส่กุญแจ โดยสภาพมิใช่เป็นการพาอาวุธติดตัวและมิใช่โดยเปิดเผยจึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา ฯลฯ
เรื่องที่ ๓ .. ผู้ต้องหาขับรถยนต์บรรทุก ๑๐ ล้อมาตามถนนสายธนบุรี – ปากท่อถูกตำรวจจับที่ด่านตรวจรถ พร้อมปืนกับกระสุน ๗ นัดซึ่งผู้ต้องหาได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้แล้ว แต่ไม่มีใบพกพา ปืนดังกล่าวอยู่ในกระเป๋าถือบนตะแกรงเหล็กเหนือที่นั่งของผู้ต้องหา อธิบดีกรมอัยการชี้ขาดว่า ผู้ต้องหามีอาวุธปืนใส่ไว้ในกระเป๋าถือ เก็บไว้ในตะแกรงเหล็กเหนือศรีษะที่นั่งคนขับ โดยสภาพจึงไม่เป็นการพาอาวุธปืนติดตัว ไม่เป็นความผิด จึงชี้ขาดไม่ฟ้อง
ทั้ง ๓ เรื่อง มาจาก หนังสือ เล่นปืนไม่ให้ถูกจับ ของอ. สมพร – ศรีนิดา พรหมหิตาธร ซึ่งเป็นพนักงานอัยการเป็นผู้เขียน หน้าที่ ๕๐ – ๕๑ ( พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ )
มาดูต่อครับ ต่อไปเป็นความเห็นชี้ขาดความเห็นแย้งของอัยการสูงสุดเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนติดตัว
อัยการสูงสุดได้ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ที่ ๖๔ / ๒๕๒๔ เกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนติดตัวว่า การพาอาวุธปืนติดตัวที่จะเป็นความผิดตาม พรบ. อาวุธปืน ฯลฯ นั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ผู้ต้องหานั้นอยู่ในวิสัยที่สามารถอาจใช้อาวุธปืนนั้นได้ในทันที หากต้องการจะใช้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมการเพื่อการใช้ใดๆอีก ดังนั้น การที่ผู้ต้องหานำอาวุธปืนไป โดยเก็บไว้ที่เก็บของท้ายรถ จึงไม่ใช่เป็นการพาอาวุธปืนติดตัวไปตามความหมายของกฎหมาย การกระทำของผู้ต้องหาจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พรบ.อาวุธปืน ฯ มาตรา ๘ ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ จึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา
คดีชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๑๙ / ๒๕๓๗ อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า การพาอาวุธปืนติดตัวที่จะเป็นความผิดตาม พรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๘ ทวิ นั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ผู้กระทำนั้นอยู่ในวิสัยที่สามารถอาจใช้อาวุธปืนนั้นได้ในทันทีหากต้องการจะใช้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมการเพื่อการใช้ใดๆอีก ฉะนั้น การที่ผู้ต้องหาแยกอาวุธปืนกับกระสุนออกจากกันและบรรจุไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้าแล้วนำกระเป๋าติดตัวมาด้วย
จึงไม่ใช่การพาอาวุธปืนติดตัวในความหมายของกฎหมาย การกระทำของผู้ต้องหาจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พรบ.อาวุธปืน ฯ มาตรา ๘ ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ จึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา
ที่มา ก็จากหนังสือเล่มเดียวกัน หน้าที่ ๕๖ -๕๗
ในยุค ป.๑๒ ขอยาก ก็ต้องเสี่ยงกันไป แต่หากว่าประชาชนคนใดพกพาแบบที่ว่ามาแล้ว ข้างต้นก็มีสิทธฺได้รับความอะลุ่มอะหล่วยจากตำรวจได้ จึงอยากจะขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่อยู่ในเวปและนอกเวปนี้ครับ ได้โปรดอะลุ่มอะหล่วยกับคนบริสุทธิ์ที่ต้องพาปืนไปป้องกันตัวด้วยเถิดครับ เพราะแม้คุณจะจับกุมไปไว้ก่อน แต่ผลสุดท้ายทางอัยการสูงสุดก็คงจะสั่งไม่ฟ้องได้ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น หากประชาชนได้ให้ความร่วมมือดังกล่าวแล้ว ขอได้โปรดอะลุ่มอะหล่วยให้ด้วยครับ ด้วยความปราถนาดีต่อเพื่อนๆสมาชิกชาวปืนทุกคนครับ
อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวข้างต้นก็สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของคำพิพากษาศาลฎีกาด้วยครับ จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๔๕ / ๒๕๔๐ วินิจฉัยว่า กระเป๋าเอกสารที่อาวุธปืนของกลางบรรจุอยู่ภายในนั้นโดยสภาพและคำพยานจำเลยแสดงว่า มีกุญแจล็อคถึง ๒ ด้าน ทั้งวางอยู่ที่เบาะด้านหลัง การจะหยิบฉวยอาวุธปืนมาใช้ทันทีทันใดนั้น ย่อมเป็นไปได้ยาก จึงมิอาจถือได้ว่าเป็นการพกพาติดตัว ทั้งเหตุผลที่จำเลยอ้างว่าเป็นการขนย้ายไปยังบ้านที่ต่างจังหวัดนั้น จำเลยมีสำเนาทะเบียนบ้านมานำสืบว่า มีการย้ายภูมิลำเนาไปจริง แม้จะภายหลังวันเวลาเกิดเหตุแต่ก็เพียงไม่กี่วัน ต้องรับฟังเป็นคุณแก่จำเลยตามที่อ้างว่าเจตนาเพียงขนย้ายสิ่งของ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังว่าจำเลยมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ที่จะพาอาวุธของกลางไปจำเลยไม่มีความผิดตาม พรบ.อาวุธปืน ฯ มาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๗๒ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ ครับจะเห็นว่าคดีนี้ แม้ศาลจะฟังว่าจำเลยย้ายของ มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนก็ตามแต่ศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัย ถึงหลักว่า อย่างไรที่จะถือว่าเป็นการพกพาปืนติดตัวเอาไว้ด้วยซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวข้างต้น และเป็นความยุติธรรมดีครับ”
เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และใกล้ตัวหลายๆคนเลยทีเดียวค่ะ ข้อมูลดีๆ แบบนี้ แชร์เก็บไว้เลย