ขอแชร์เตือน อันตราย ! งีบหลับในรถพร้อมเปิดแอร์ เสี่ยงเสียชีวิตโดยไม่รู้ตัว

 

 

หากรู้ตัวว่าตัวเองนั้นต้องขับรถเดินทางไปไหนไกลๆ สิ่งแรกที่ควรคำนึงเลยก็คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อที่จะได้ขับรถอย่างมีสติ ไม่หลับใน ปลอดภัยทั้งเราและคนที่นั่งมาด้วย หากเราพักผ่อนมาไม่เพียงพอแล้ว ร่างกายจะอ่อนเพลีย รู้สึกง่วงจนต้องหยุดนอนพักข้างทาง สิ่งที่อันตรายที่สุดของการนอนในรถ คือ ด้วยความรักสบาย คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเปิดแอร์ทิ้งไว้ขณะหลับ นั่นถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยพบปัญหาประชาชนเสียชีวิตขณะนอนหลับในรถยนต์ที่ติดเครื่องยนต์และเปิดแอร์ได้ทุกปี ปีละประมาณ 1-2 ราย เมื่อเร็วๆนี้ พบ 3 รายเสียชีวิตขณะนอนหลับในรถคันเดียวกัน

 

การจอดรถติดเครื่องยนต์เปิดแอร์นอนในรถ และปิดกระจกมิดชิดเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะเท่ากับเรากำลังนอนดมก๊าซพิษในรถอยู่ โดยก๊าซพิษที่ทำให้เสียชีวิต ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide; CO) ซึ่งเป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น อยู่ในไอเสียของรถยนต์ที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมัน ก๊าซสามารถไหลเวียนเข้ามาภายในตัวรถได้ทางระบบแอร์รถยนต์

 

 

ซึ่งจะมีการดูดอากาศจากภายนอกและดูดเอาควันจากท่อไอเสียรถยนต์เข้ามาหมุนเวียนภายในรถด้วย ผู้ที่นอนภายในรถจึงสูดก๊าซพิษชนิดนี้เข้าไปสะสมในร่างกายโดยไม่รู้ตัว เมื่อก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปรวมตัวกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้ดีกว่าก๊าซออกซิเจนถึง 200-250 เท่าตัว ส่งผลให้ความสามารถของเม็ดเลือดแดงในการนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายและสมองลดลงเรื่อยๆ ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ผู้ที่สูดดมจะมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อาเจียน รายที่รุนแรงอาจไม่รู้สึกตัว ระบบหายใจล้มเหลว และถึงแก่ชีวิตได้

 

หากขับรถแล้วรู้สึกง่วงมาก จำเป็นจะต้องจอดนอนพักในรถยนต์ ก็สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1 เมื่อจอดรถยนต์สนิทแล้ว ควรดับเครื่องยนต์ ลดกระจกลงประมาณ 2-3 ซม. เพื่อเปิดระบายให้อากาศจากภายนอกซึ่งมีออกซิเจนประมาณร้อยละ 20 เข้ามาหมุนเวียนถ่ายเทภายในรถ ห้ามเปิดแอร์และห้ามปิดกระจกโดยเด็ดขาด

วิธีที่ 2 เปิดพัดลมแอร์ โดยบิดกุญแจไปที่จังหวะออน เพื่อให้ระบบไฟฟ้าในรถทำงาน แล้วจึงบิดเปิดสวิทช์แอร์ เมื่อเปิดแล้วให้เลือกปุ่มที่เขียนว่า A/C หรือปุ่มที่มีรูปรถและมีลูกศรชี้เข้ามาในตัวรถจากภายนอก เมื่อเลือกกดปุ่มดังกล่าว พัดลมแอร์จะดูดอากาศมาหมุนเวียนในห้องโดยสารได้เช่นกัน ควรนอนพักประมาณ 30-40 นาทีให้คลายความอ่อนเพลีย เมื่อพร้อมแล้วค่อยออกเดินทางต่อ

เมื่อได้อ่านแบบนี้แล้ว ใครที่ชอบงีบหลับในรถคงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ซะแล้วล่ะ หากรู้ว่าต้องขับรถ หรือเดินทางระยะไกล ควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง จะเป็นทางออกที่ดีกว่า อย่าเสี่ยงมาขับรถทั้งๆ ที่นอนน้อยเลย เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นมันได้ไม่คุ้มเสียหรอก

ที่มา : กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

 

ใส่ความเห็น