เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่รับความความสนใจอย่างมาก กระทรวงการคลัง ร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ เชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคเบี้ยผู้สูงอายุ เข้าสมทบกองทุนฯ ช่วยผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย หลังยอดบริจาค “ต่ำกว่าเป้าหมาย”
ไม่พลาดข่าวสาร กดแอดไลน์ ติดตามเรานะจ๊ะ
ภายหลังกระทรวงการคลัง เปิดตัวโครงการ “เกื้อกูลผู้สูงวัย สังคมไทยน่าอยู่” เชิญชวนให้ผู้มีความพร้อม บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้กับผู้สูงอายุ ที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีมากกว่า 4 ล้าน 6 แสนคน จากจำนวนผู้ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทั้งหมด 9 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 90 หรือประมาณ 3 ล้าน 9 แสนคน อยู่ในภาวะยากจน และมีความเป็นอยู่อย่างขัดสน 2 ล้านคน อีก 1 ล้าน 4 แสนคน ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และเป็นผู้พิการด้วย 3 แสน 4 หมื่นคน
นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดตัวโครงการดังกล่าว มีผู้บริจาคเบี้ยฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 150 คน มาอยู่ที่ 955 คน จากก่อนหน้านี้ 811 คน หรือเฉลี่ย เดือนละ 100 คน คิดเป็นเงิน ประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เดือนละ 1 พันคน ก่อนนำเงินบริจาคไปสมทบเข้ากองทุนผู้สูงอายุ เพื่อไปปรับเพิ่มการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ จากเดือนละ 600 บาท เป็น 1 พันบาท
แต่ปัจจุบัน เงินบริจาคที่ได้รับ สามารถเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เพิ่มขึ้นประมาณ 50 บาท เท่านั้น จึงเปิดตัว หนังสั้นเรื่อง “ยายบุญล้น” เพื่อสร้างจิตสำนึกของ “การให้” พร้อมย้ำว่า ผู้เข้าร่วมโครงการ แจ้งบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะได้รับเหรียญพระคลังเชิดชูเกียรติ และ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ด้วย ขณะเดียวกัน ผู้บริจาคเบี้ยฯ จะได้รับใบเสร็จการบริจาคทุกเดือน เพื่อเป็นหลักฐาน
ขณะที่ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ ทุกแห่ง เตรียมสนับสนุนการจัดทำหนังสั้นชุดดังกล่าว เพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ทั้งบนสื่อประชาสัมพันธ์ภายในธนาคาร / ตู้เอทีเอ็ม และช่องทางออนไลน์ต่างๆ
คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพฯ
– ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
การแจ้งความประสงค์ในการบริจาคเบี้ยยังชีพฯ
หน่วยรับแจ้งการบริจาค
– ผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์บริจาคด้วยตัวเองหรือมอบอำนาจได้ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครที่ตนได้ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพไว้
– ผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดที่อาศัยในต่างจังหวัด สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์บริจาคด้วยตัวเองหรือมอบอำนาจได้ที่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนได้ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพไว้
– ผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์บริจาคด้วยตัวเองหรือมอบอำนาจได้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต)
ทั้งนี้ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา จะส่งเงินบริจาคให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เพื่อส่งเข้ากองทุนผู้สูงอายุต่อไป และสำหรับกรุงเทพมหานครจะส่งเงินบริจาคเข้ากองทุนผู้สูงอายุโดยตรง
เอกสารหลักฐาน
– กรณีแจ้งความประสงค์บริจาคด้วยตัวเอง นำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
– กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอบริจาคเบี้ยยังชีพแทน นำหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
ทั้งนี้ การแจ้งความประสงค์ขอบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะเป็นการบริจาคเงินเบี้ยยังชีพ ทั้งจำนวนตามสิทธิการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของผู้บริจาคแต่ละคนตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ได้แจ้งความประสงค์ ไปจนกว่าจะแจ้งยกเลิกการบริจาค
การนำเงินบริจาคไปใช้
– เงินบริจาคจะนำมาจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรเงินช่วยเหลือฯ และกรมบัญชีกลางจะนำเงินช่วยเหลือฯ เข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้สูงอายุในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป
ผู้บริจาคจะได้อะไร
– เหรียญเชิดชูเกียรติ เพื่อเป็นการตอบแทนการเสียสละเงินเบี้ยยังชีพที่จะนำไปให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
– สิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1 เท่าของเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับ เงินบริจาคอื่นแล้วไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อน ซึ่งกองทุนผู้สูงอายุจะจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้บริจาคต่อไป
ไม่พลาดข่าวสาร กดแอดไลน์ ติดตามเรานะจ๊ะ