ค่าไฟแพงขึ้น ทะลุ 3.6 บาทต่อหน่วย แพงที่สุดในรอบ 16 เดือน

ค่าไฟแพงขึ้น ทะลุ 3.6 บาทต่อหน่วย

 

8 พ.ย. น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.มีมติให้เรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2562 เพิ่มขึ้น

ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 4.30 สตางค์ต่อหน่วย หรือจาก 3.5966 บาทต่อหน่วย มาอยู่ที่ 3.6396 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) นับเป็นการปรับขึ้นค่าเอฟทีครั้งแรกในรอบ 16 เดือน

ทั้งนี้ หากไม่มีการบริหารจัดการค่าเอฟทีที่เรียกเก็บกับประชาชน ค่าเอฟทีจะเพิ่มขึ้น 8.10 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาก๊าซในเดือนก.ย.-ธ.ค.2561 ปรับตัวสูงขึ้น 12.67 บาทต่อล้านบีทียู ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 3.48 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 1.17 บาทต่อลิตร และราคาถ่านหินเพิ่มขึ้น 114.36 บาทต่อตัน และราคาซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น 0.08 บาทต่อหน่วย

โดย กกพ.มีมติให้นำเงินสะสมรวมทั้งสิ้น 10,367 ล้านบาท จากการเรียกเก็บค่าเอฟทีจำนวน 3,298 ล้านบาท รวมกับเงินค่าบริหารเอฟทีและค่าปรับจากผู้ประกอบการจำนวน 5,547 ล้านบาท และเม็ดเงินลงทุนจากการไฟฟ้าที่ไม่ได้ลงทุนตามแผนอีกจำนวน 1,522 ล้านบาท เพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดการผันผวนของการปรับเพิ่มค่าเอฟทีที่ส่งผลกระทบต่อค่าบริหารไฟฟ้า ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม กกพ.ประเมินราคาเชื้อเพลิงยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มอัตราค่าเอฟทีงวดถัดไปช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค.2562 จึงต้องติดตามสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงอย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการเงินสะสมสำหรับดูแลค่าไฟให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป เพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน สร้างความราบรื่นในการปรับตัวให้กับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเป็นหลัก

นอกจากนี้ กกพ.ยังประสานความร่วมมือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์การลดสัดส่วนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้พิจารณาแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีความเหมาะสมเพื่อเพิ่มปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น และมีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตภายในประเทศ

ใส่ความเห็น