ออมสินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ให้นำไปสร้างอาชีพ

 

ธนาคารออมสิน เตรียมเสนอคลัง ออกโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ให้ผู้มีรายได้น้อยเป็นทุนสร้างอาชีพ รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท

เมื่อย้อนไป วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินเตรียมเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผ่านโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ วงเงินรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท ให้วงเงินกู้ผู้มีรายได้น้อยรายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

โดยธนาคารอาจจะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้มีรายได้น้อยที่จะขอกู้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ จะต้องผ่านการอบรมอาชีพมาก่อน เพื่อการันตีว่าจะนำเงินที่ได้ไปประกอบอาชีพจริง ๆ เพราะต้องยอมรับว่าการปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อยนั้น มีความเสี่ยงมากกว่าส่วนอื่น โดยในปีแรกคาดว่าจะฝึกอบรมอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยได้ประมาณ 20,000-30,000 ราย

สำหรับการฝึกอบรมอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยนั้น ธนาคารจะร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 16 แห่ง ทำโครงการแก้ปัญหาความยากจนให้กับผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ โดยการเข้าไปอบรมให้ความรู้ทางวิชาชีพ และคิดหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อเพิ่มทักษะที่จำเป็นด้านอาชีพ โดยกลุ่มเป้าหมายแรก คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 กับธนาคารออมสิน จำนวน 3 ล้านราย ซึ่งหวังจะเพิ่มรายได้ให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวพ้นเส้นความยากจนที่ระดับ 1 แสนบาทต่อปี โดยจะเริ่มดำเนินโครงการได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561

“การปล่อยกู้สำหรับผู้มีรายได้น้อยในระยะต่อไป ธนาคารจะมีการกำหนดในเงื่อนไขว่าผู้ที่จะกู้เงินในโครงการสำหรับผู้มีรายได้น้อย จะต้องผ่านการฝึกอบรมอาชีพมาก่อน เพราะต้องยอมรับว่าการปล่อยกู้ผู้มีรายได้น้อยจะมีความเสี่ยงมากกว่าส่วนอื่น ดังนั้นการฝึกอบรมอาชีพจะเป็นการการันตีว่าผู้ขอกู้เงินจะมีอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น โดยในปีแรกธนาคารตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถฝึกอบรมอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยประมาณ 2-3 หมื่นราย และคาดว่าในปี 2561 จะมีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยประชาชนอีก 20 แห่ง” นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ธนาคารยังได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่ง ใจการจัดทำโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ซึ่งเป็นกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2560-2561 โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นการสร้างกระบวนการในการเสริมสร้างและพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถของประชาชน หรือกลุ่มชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการให้มีศักยภาพ มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มตอบสนองความต้องการของตลาด โดยการนำนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 16 แห่ง เข้าไปเรียนรู้กับชาวบ้านเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงวัย รวมถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มรับสวัสดิการรัฐ มีความสามารถในการประกอบอาชีพ และเข้าถึงการมีรายได้ มีอาชีพ นำไปสู่การเข้าถึงแหล่งทุนในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

ใส่ความเห็น