ความจริง “ห้องสุขภาพอนามัย” นี้ตั้งใจจะเปิดห้องตั้งแต่ “วันงดสูบบุหรี่โลก” เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ แต่บังเอิญ “เว็บแดนพระนิพพาน” เดินทางมาล่าช้า เนื่องจากมัวแต่ไปไหว้ “รอยพระพุทธบาท” ทางภาคเหนืออยู่
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญที่จะกล่าวนี้ คงจะเกี่ยวเนื่องกับทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ เพราะมีโรคทาง “ร่างกาย” เหมือนกันหมด ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ร่างกายเป็น..โรคนิทธัง” คือเป็น “รังของโรค” หรือ “พยาธิปิ ทุกขา” ความเจ็บเป็นทุกข์อย่างยิ่ง จึงจำเป็นที่จะต้องหายามารักษาโรคกันทุกคน
ฉะนั้น บุคคลสำคัญที่อุบัติขึ้นในโลก ท่านได้มีโอกาสรักษาพระพุทธเจ้าจนวาระสุดท้าย นั่นก็คือ “ท่านพ่อหมอชีวิกโกมารภัจ” ซึ่งคนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี “ตำราแพทย์แผนไทย” ในบ้านเราจึงมีมากมายหลายขนาน แม้ที่วัดท่าซุงก็เช่นกัน เห็นว่าสมัยก่อนก็มี “คัมภีร์ใบลาน” จารึกตำรายาสมุนไพรไว้เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาแล้ว หากมีผู้ใดเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน “พระบวชใหม่” ไว้ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ มีใจความดังนี้ว่า
พราหมณ์ขออุปสมบท
ก็โดยสมัยนั้นแล..ประชาชนทั้งหลายได้จัดตั้งลำดับภัตตาหารอันประณีตไว้ที่ในพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งได้มีความดำริว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ มีปกติเป็นสุข มีความประพฤติสบาย ฉันโภชนะที่ดี นอนบนที่นอนที่เงียบสงัด ถ้ากระไร เราพึงบวชในพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเถิด ดังนี้ แล้วได้เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วขอบรรพชา.
ภิกษุทั้งหลายให้เขาบรรพชาอุปสมบทแล้ว. ครั้นเขาบวชแล้ว ประชาชนให้เลิกลำดับภัตตาหารเสีย. ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “คุณ..จงมาเดี๋ยวนี้ พวกเราจักไปบิณฑบาต.”
เธอพูดอย่างนี้ว่า “กระผมมิได้บวชเพราะเหตุนี้ว่า จักเที่ยวบิณฑบาต ถ้าท่านทั้งหลายให้กระผม กระผมจักฉัน ถ้าไม่ให้กระผม กระผมจะสึก ขอรับ.”
พวกภิกษุถามว่า “อาวุโส..ก็คุณบวชเพราะเหตุแห่งท้องหรือ?”
เธอตอบว่า “อย่างนั้นซิ ขอรับ.”
บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย … ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุจึงได้บวชในพระธรรมวินัย อันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วอย่างนี้ เพราะเหตุแห่งท้องเล่าแล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า “จริงหรือ..ภิกษุ ข่าวว่า เธอบวชเพราะเหตุแห่งท้อง?”
ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง…พระพุทธเจ้าข้า.”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า “ดูกร..โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้บวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ เพราะเหตุแห่งท้องเล่า
ดูกร..โมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว …”
ครั้นแล้ว ทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้อุปสมบท บอก นิสสัย ๔ ว่าดังนี้:-
นิสสัย ๔
๑. บรรพชาอาศัยโภชนะ คือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลากภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ์ ภัตถวายในวันปาฏิบท.
๒. บรรพชาอาศัยบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน. (เช่นผ้าด้ายแกมไหม)
๓. บรรพชาอาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ.
๔. บรรพชาอาศัย “มูตรเน่า” เป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย. ดังนี้
หมายเหตุ..”น้ำมูตรเน่า” ได้แก่ “น้ำปัสสาวะ” ซึ่งจะได้อธิบายกันภายหลัง
เริ่มต้นกันด้วย “พุทธพจน์” กันเพียงแค่นี้ก่อน ไว้คอยติดตามกันต่อไปอีกว่า “ยาสมัยพุทธเจ้า” พระองค์ได้แนะนำให้ภิกษุใหม่ฉัน “ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า” ตามที่พระอุปัชฌาย์สอนตอนหลังจากบวชเสร็จแล้วนั่นเอง ได้ยินว่า..
สมัยพระเดชพระคุณหลวงพ่อยังอยู่ ท่านได้บอกว่าให้เอา “ผลสมอ” ดองกับน้ำปัสสาวะ แช่ดองไว้สัก 7 วัน แล้วค่อยเอาน้ำมาฉัน ส่วน “หลวงปู่ธรรมชัย” บอกว่า ถ้ามีคนประสบอุบัติเหตุ ยังพอจะช่วยเหลือได้ ท่านให้เอา “น้ำปัสสาวะ” จะสามารถช่วยได้ และตำรายาดองนี้ยังมีอีกหลายวิธี เช่น หลวงปู่พรหมจักรฯ วัดพระบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน หรือสาย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นต้น ก็มีตัวยาสมุนไพรเพิ่มเติมไปอีก ทำให้มีสรรพคุณเป็น “ยาอายุวัฒนะ” อย่างดีสำหรับพระภิกษุทั้งหลาย
โดยเฉพาะทางอเมริกาหรือแพทย์ไทยสมัยนี้ได้วิเคราะห์แล้วว่า น้ำปัสสาวะของคนเรานี้มีสารตัวหนึ่งที่เรียกว่า “ยูเรีย” ทำให้มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย บางท่านอาจจะคิดรังเกียจ แต่อย่าลืมว่าเป็นของเราเอง และประการสำคัญเป็นตำรายาของพระพุทธเจ้านั่นเอง ที่มีมานานนับตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
“ดื่มน้ำปัสสาวะ” ทางเลือกหนึ่งในการบำบัดโรค
แพทย์ระบุการดื่มน้ำปัสสาวะรักษาโรค ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพ บำบัดโรคปวดเรื้อรัง แผลไฟไหม้พุพอง มะเร็ง เบาหวาน ฯลฯ โดยใช้หลัก “พิษต้านพิษ” คล้ายกับการฉีดเซรุ่มถอนพิษงู ย้ำต้องดื่มน้ำปัสสาวะของตนเองเท่านั้น ใช้ควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน
นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล เจ้าของสถานพยาบาลธรรมชาติบำบัด กล่าวในการบรรยายเรื่อง “การดื่มน้ำปัสสาวะบำบัดโรค” ที่ห้องประชุมเบญจกูล กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เวลา 10.00 น.ว่า การดื่มน้ำปัสสาวะบำบัดโรคมีตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ในนิสสัย 4 คือ “ปูติมุตตเภสัช” ยาจากน้ำมูตรเน่า หรือน้ำปัสสาวะ เป็นสิ่งที่สงฆ์พึงกระทำ
การดื่มน้ำปัสสาวะบำบัดโรคให้ดื่มน้ำปัสสาวะของตนเอง โดยดื่มก่อนนอนและดื่มตอนเช้าครั้งละ 100 ซีซี. ถือเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะเลือกใช้การบำบัดโรคแบบนี้ โดยดื่มน้ำปัสสาวะบำบัดอาการปวดเรื้อรัง เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดไมเกรน ปวดเมื่อยไม่มีสาเหตุ รักษาโรคภูมิแพ้ ผื่นคัน สะเก็ดเงิน มะเร็ง ลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ใช้ผ้าชุบน้ำปัสสาวะปิดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
ส่วนประกอบของปัสสาวะเป็นน้ำร้อยละ 95 ยูเรียร้อยละ 2.5 และสารอื่น ๆ อีกร้อยละ 2.5 การใช้น้ำปัสสาวะบำบัดโรคอธิบายได้ด้วยหลักฮีโมโอพาธี หรือหลักพิษต้านพิษ เช่น ฉีดพิษงูทีละน้อย ๆ เข้ากระแสเลือดม้าจนได้ซีรั่ม หรือน้ำเหลืองม้า กลายเป็นเซรุ่มฉีดแก้พิษงู นำพิษของต้นควินิน ที่ทำให้หนาวสั่น มาเป็นยารักษาไข้มาลาเรีย หรือไข้จับสั่น
“หลวงปู่องค์หนึ่ง” ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติ มีอายุยืนยาว ท่านก็ใช้น้ำปัสสาวะบำบัด มีประชาชนที่อยู่ใกล้วัดของพระดุษฎี เมธังกุโร จังหวัดชุมพร เลื่อมใสศรัทธาดื่มน้ำปัสสาวะบำบัดโรคเหมือนกัน เขาก็สุขสบายดี ในภาวะที่คนเรายากจน โครงการ 30 บาท งบประมาณก็ไม่พอ เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนพึ่งตนเองได้ การดื่มน้ำปัสสาวะบำบัดโรคเป็นการดื่มด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครบังคับได้ ไม่มีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนยา หรือวิตามิน เพราะต้องดื่มน้ำปัสสาวะของตัวเองเท่านั้น” นพ.บรรจบ กล่าว
นพ.บรรจบ กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันยังไม่มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับพิษ หรือโทษของการดื่มน้ำปัสสาวะในประเทศไทย ผู้ที่บอกว่าดื่มน้ำปัสสาวะระวังโรคไต เพราะปัสสาวะเป็นของเสียที่ขับออกจากร่างกายนั้น ผู้ที่พูดลักษณะนี้ควรมีหลักฐานมายืนยันด้วย
อย่างไรก็ตาม น้ำปัสสาวะบำบัดโรคเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพเท่านั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน มะเร็ง ต้องรักษาด้วยการแพทย์ปัจจุบัน ปรับพฤติกรรม คือ หากต้องผ่าตัดก็ต้องผ่าตัดเนื้อร้ายออก มีข้อควรระวังคือ อย่าดื่มน้ำปัสสาวะของคนอื่น ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินปัสสาวะ มีประจำเดือน ไม่ควรดื่มน้ำปัสสาวะ เพราะอาจมีเชื้อโรคติดมาด้วย
“ชาวจีนมีความเชื่อว่า ดื่มน้ำปัสสาวะเด็กผู้ชายสำหรับคนอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หลักการแพทย์พื้นบ้านไทย ใช้น้ำปัสสาวะเป็นยาดองเพื่อปรุงโอสถ เช่น ดองสมอไทย สมอภิเพก มะขามป้อม เป็นยาอายุวัฒนะ” นพ.บรรจบ กล่าว.
ข้อมูลข่าว : สำนักข่าวไทย และ กรมสุขภาพจิต
ส่วนตอนนี้เป็นบทความพิเศษจากหนังสือ “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ ๒๔๐ เมษายน ๒๕๔๒
เรื่องของ “น้ำปัสสาวะสามารถรักษาโรคได้สารพัด” ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะอย่างครึกโครมเป็นระยะๆ จำได้ว่าขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่ง ของ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕ โดยบรรยายสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคได้ ตั้งแต่โรคง่ายๆ เช่น หวัดไปจนถึงโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง โดยการศึกษาวิจัย ของ สถาบัน MCL (miracle cup of liquid แปลว่า น้ำในถ้วยมหัศจรรย์) ของ ญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันก็พบว่า มีการตื่นตัว แปลหนังสือเผยแพร่เป็นภาษาต่างประเทศทั่วโลก ในขณะที่แพทย์สมัยใหม่หลายคนออกมาคัดค้านว่า ความเชื่อในเรื่องน้ำปัสสาวะเป็นน้ำมหัศจรรย์ ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน ความวิเศษตามที่กล่าวอ้างในชีวิตจริง ผู้เขียนเคยพบเห็นผู้ที่ใช้น้ำปัสสาวะ เพื่อรักษาโรคเรื้อรัง ของ ตนเองตามความเชื่อ เนื่องจากผู้ป่วยพบว่า ไม่สามารถหาทางออกได้จากการรักษา โดยการแพทย์แผนปัจจุบัน จึงตัดสินใจลองรักษาตัวเองโดยวิธีนี้
บทความที่จะเขียนต่อไปนี้ คงไม่สามารถให้คำตอบที่เบ็ดเสร็จ ว่าน้ำปัสสาวะจะสามารถแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บบางอย่าง ตามที่มีผู้กล่าวอ้าง จริง หรือ ไม่ ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจจะสรุปลงไปเลยว่า น้ำปัสสาวะไม่มีคุณค่าใดๆ เลย ต่อการรักษาโรค บทความนี้ทำหน้าที่เสนอ เล่าสู่กันฟังถึงความเชื่อ และ การใช้น้ำปัสสาวะมารักษาโรคที่การ แพทย์แผนจีนได้มีการบันทึกกล่าวไว้ เพื่อเป็นข้อมูลในการเข้าใจถึงประสบการณ์ของคนจีน คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจไม่มากก็น้อย
การรักษาโรคด้วยน้ำปัสสาวะหมายถึง การนำน้ำปัสสาวะ ของ คน หรือ สัตว์ (ส่วนที่เป็นน้ำใส และองค์ประกอบในน้ำปัสสาวะ) มาใช้ดื่มเพื่อเข้าสู่ภายในร่างกาย หรือใช้ภายนอก ในการรักษาโรคที่ได้มีการสืบทอดกันมา ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยน้ำปัสสาวะบันทึกไว้ว่า
ประมาณ ๑,๔๐๐ ปีก่อน ในราชวงศ์หนาน ยุคฉีเหลียง มีบันทึกสรรพคุณทางยา ของ น้ำปัสสาวะไว้ในบันทึกทางการแพทย์ ชื่อ “หมิง อวี เปียะ ลู่” สมัยราชวงศ์ฮั่น แพทย์จีนชื่อ จาง จ้ง จิ่ง ได้สร้างตำรับยา ”น้ำปัสสาวะผสมกับน้ำดีหมู” รักษาภาวะสารยินในร่างกายเหือดแห้ง และ พลังหยางถดถอยที่มีอาการรุนแรงสมัยราชวงศ์ถัง มีบันทึกการใช้น้ำปัสสาวะส่วนใสของเด็กเล็กมารักษาโรค โดยการใช้ทาภายนอกร่างกาย
สมัยราชวงศ์หมิง ในบันทึก “อวี เซียะ เจิ้ง ฉวน” กล่าวถึงการใช้ปัสสาวะรักษาโรคสตรีภายหลังการคลอด การรักษาโรคกระดูกหักจากอุบัติเหตุ
หนังสือ “เปิ่น เฉ่า จิง ซู” ในสมัยราชวงศ์หมิง ได้กล่าวถึงสรรพคุณ ของ น้ำปัสสาวะไว้ว่า “สามารถขับความร้อนจากความเหนื่อยล้า และ ภาวะร้อนภายใน แก้ไอ อาเจียนเป็นเลือด รวมถึงสตรีหลังคลอดที่เกิดอาการเวียนศีรษะ อึดอัด เนื่องจากเสียเลือด”
หนังสือ “จัง ชิ้ง ถัง สุย ปี่” กล่าวสรุปว่า น้ำปัสสาวะมีสรรพคุณบำรุงธาตุยิน ลดไฟร้อนได้อย่างวิเศษสุด และ มีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับเลือด
ชนิด ของ น้ำปัสสาวะ และ การแยกส่วน ของ ตะกอน
๑. น้ำปัสสาวะ ของ คน
เลือกเอาน้ำปัสสาวะ ของ คนที่แข็งแรง เอาเฉพาะน้ำปัสสาวะช่วงกลาง (คือน้ำปัสสาวะส่วนต้น ที่เริ่มถ่ายออก และ ส่วนปลายขณะที่ถ่ายเกือบสุด เป็นส่วนที่ไม่ใช้) ปกติมักจะใช้ปัสสาวะเด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๐ ขวบ ยิ่งเด็กเล็กยิ่งดี การดื่ม ควรดื่มขณะที่อุ่นๆ หรือ ทันทีเมื่อปัสสาวะใหม่ๆ ครั้งละ ๑-๒ ถ้วย หรือ ผสมกับยาสมุนไพรตามตำรับยาต่างๆ การใช้ทาภายนอก สามารถใช้โดยตรง ตรงตำแหน่งที่เป็นโรค
๒. ตะกอนจากส่วนประกอบในปัสสาวะ เหวิน จง ไป๊)
เอาน้ำปัสสาวะใส่ไห หรือ ใส่กาทิ้งไว้เป็นเวลาแรมปี แล้วตักเอาส่วนที่ตกตะกอน แยกเอาสิ่งเจือปนอื่นๆ ออก นำตะกอนไปตากแห้ง ก็จะได้ส่วนที่เป็นสารประกอบ หรือ ตะกอนแห้งลักษณะแข็ง สีขาวเทาปราศจากสิ่งเจือปน
เหตุผลทางทฤษฎีแพทย์แผนจีน
แพทย์แผนจีนจัดน้ำปัสสาวะ ของ คนปกติทั่วไปเป็นประเภทยิน สรรพคุณทางยาเป็นยาเย็น ไม่มีพิษ รสชาติเค็ม วิ่งสู่อวัยวะภายในคือ ตับ ไต ปอด