ผักบุ้ง ถือเป็นผักท้องถิ่นของไทยมาอย่างช้านาน เรียกได้ว่าเป็นอาหารได้ตั้งแต่ร้านข้างทางไปจนถึงภัตตาคารใหญ่ๆ ผักบุ้งจึงมีคุณค่ามากและมีประโยชน์มากมายนานับประการ ดังนั้นเกษตรที่เลือกปลูกผักอินทรีย์ จึงสามารถทำรายได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับข้อมูลพื้นฐานของ ผักบุ้ง เป็นผักแบบไม้เลื้อยล้มลุกมีอายุอยู่ได้นานหลายปี ลำต้นมีลักษณะกลมสีเขียว หรือสีม่วงแดง มีรากออกตามข้อปล้องของลำต้น มักเจริญเติบโตอยู่ตามดินที่ชื้นแฉะหรือในน้ำ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย และเป็นพืชท้องถิ่นของคนไทยมาช้านานแล้ว
วิธีการปลูกผักบุ้งในโอ่ง
ขั้นตอนนั้นไม่ยากเลย ทำเหมือนกับการปลูกผักบุ้งตามแปลงดินทั่วไป แม้แต่การปลูกผักบุ้งในกระถางก็สามารถจำมาดัดแปลงใช้กับการปลูกแบบในโอ่งได้ง่ายมาก คือการผสมดินปลูกลงในตะกร้า หรือนำดินปลูกลงในก้นโอ่งได้เลย
อุปกรณ์สำหรับการปลูกผักบุ้งในโอ่ง เตรียมดังนี้
– โอ่ง ไม่จำกัดขนาด ไม่ต้องเจาะก้นโอ่ง
– ตะกร้า ไว้สำหรับทำแปลงปลูก ให้เล็กกว่าก้นโอ่งเล็กน้อย หรือไม่มีก็ได้
– ดินปลูก ใช้ดินปลูกผักทั่วไป หรือดินผสมปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์แล้ว
– กระสอบเก่า กระดาน หรือตาข่ายเก่า ไว้สำหรับคลุมปากโอ่ง
เริ่มปลูกผักบุ้งในโอ่งกันเลย โดยการนำดินปลูกที่ผสมแล้วใส่ตะกร้าที่เตรียมไว้ หรือนำดินที่ผสมแล้วใส่ลงในก้นโอ่ง ให้มีความสูงจากก้นโอ่งประมาณ 3-5 นิ้ว (เนื่องจากในระยะต่อไปจำเป็นต้องรดน้ำ และเราไม่ได้เจาะก้นโอ่งเพื่อระบายน้ำออก ทำให้อาจมีการขังภายในก้นโอ่ง จึงจำเป็นต้องใช้ระดับดินสูงเล็กน้อยเพื่อป้องกันดินกับน้ำผสมกันจนต้นผักบุ้งล้ม ตะกร้า สามารถช่วยให้ต้นผักบุ้งยืนต้นได้กรณีน้ำภายในโอ่งมีมากเกินไป เมื่อนำดินลงเรียบร้อยจนได้ระดับดีแล้ว ให้ทำการหยอดเมล็ดผักบุ้ง ส่วนใหญ่ใช้เมล็ดผักบุ้งแก้ว เนื่องจากโตเร็ว ต้นสวย และตลาดมีความนิยม จำนวนเมล็ดที่ใช้ ตามความต้องการ แต่ไม่ควรแน่นจนเกินไป
เมื่อหยอดเมล็ดแล้วให้รดน้ำจนดินชุ่มแต่ไม่แฉะ รอจนกว่าจะผักบุ้งแทงยอดอ่อน แล้วเริ่มใช้กระสอบเก่า หรือตาข่าย ปิดบังแสง (แต่ต้องให้อากาศเข้าได้) ทิ้งไว้อีกระยะจนยอดผักบุ้งสูงเกือบถึงปากโอ่ง จึงสามารถตัดยอดไปรับประทานได้ กรณีไม่มีเมล็ด ผักบุ้งแก้วสามารถนำกิ้งมาปักชำได้เลย แต่การปักชำกิ่งผักบุ้งแก้ว จำเป็นต้องรดน้ำให้ดินปลูกแฉะ หรือน้ำท่วมดินปลูกเล็กน้อย แล้วเริ่มปักชำได้เลย จำนวนตามต้องการแต่ไม่ควรแน่นจนเกินไป และเมื่อเสร็จแล้วใช้ตาข่ายปิดปากโอ่ง รอจนกว่าผักบุ้งจะแตกยอดใหม่ และตัดยอดนำไปรับประทานได้เลย
จุดประสงค์ของการปลูกผักบุ้งในโอ่งคืออะไร
เนื่องจากผักบุ้งเป็นผักต้องการแสง วิธีการปลูกผักบุ้งในโอ่งนี้ดัดแปลงมาจากการปลูกผักบุ้งในนาที่มีน้ำท่วมสูง แต่ผักบุ้งไม้ตาย และสามารถแทงยอดสูงขึ้นพ้นเหนือน้ำได้ ทำให้ได้ลำต้นที่เป็นส่วนของยอดสูงและอวบอิ่ม แต่ใบน้อยและเล็ก เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบเลือกที่จะรับประทานยอดผักบุ้งมากกว่ารับประทานใบ วิธีนี้คล้ายๆ กับการปลูกหน่อไม้ฝรั่งสีขาวนั่นเอง
การปลูกผักบุ้งในโอ่งดีอย่างไร
ผักบุ้งเป็นผักไม้เลื้อยและผักล้มลุก แต่มีอายุเก็บเกี่ยวนาน และมีการแตกยอดอยู่เรื่อยๆ ตราบใดที่ต้นหลักยังคงได้รับสารอาหารเพียงพอ อีกทั้งยังสามารถแตกเป็นต้นใหม่ได้ด้วยการปักชำที่แสนง่ายดาย ดังนั้น เมื่อผักบุ้งอยู่ในโองและมีความต้องการแสง จึงจำเป็นต้องสร้างลำต้นให้สูงพ้นปากโอ่งเพื่อต้องการแสงมาสังเคราะห์อาหารอยู่ตลอดเวลา การตัดลำต้นผักบุ้งให้ต่ำเกือบติดโคน จึงเป็นวิธีที่ทำให้ผักบุ้งแตกยอดใหม่อย่างต่อเนื่อง และยังได้ลำต้นที่เป็นยอดที่ยาว ไม่แข็งเหมือนกับการปลูกในแปลงทั่วไปที่ผักบุ้งสามารถสังเคราะห์แสงได้อย่างเพียงพอ นี่จึงเป็นข้อดีของการปลูกผักบุ้งในโอ่ง ที่สามารถเก็บเกี่ยวยอดผักบุ้งที่ยาว ได้นาน เท่าที่สารอาหารในโอ่งจะเพียงพอให้ผักบุ้งแตกยอดมาใหม่
สูตรน้ำหมักชีวภาพสำหรับบำรุงดิน น้ำ ใช้ผักบุ้ง 2 กิโลกรัม หยวกกล้วยอ่อน 3 กิโลกรัม และกากน้ำตาล 2 กิโลกรัม หมักรวมกันทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือนก่อนนำไปใช้ เมื่อครบกำหนดใช้น้ำหมัก 3 ช้อนแกง ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่นทางใบ การใส่น้ำหมักชีวภาพลงไปในแปลง จะเป็นการช่วยสร้างแพลนตอนในน้ำ และไม่ทำให้น้ำในแปลงเน่าเสีย