สบู่หอมนกแก้ว
รู้หรือเปล่าว่า สบู่นกแก้ว สบู่ของคนไทยที่คนต่างชาตินิยมซื้อกลับไปเป็นของฝากเกิดขึ้นมาจากไอเดียของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย
แต่เมื่อเวลาผ่านไป สบู่ที่ผลิตโดยบริษัทฝรั่ง ได้กลายเป็นสินค้าที่ชาวต่างชาติกล่าวขานว่าเป็นสินค้าที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของคนไทย และซื้อกลับไปเป็นของฝากเป็นจำนวนมาก
คำถามคือ ทำไมสบู่จากไอเดียของฝรั่งจึงกลายเป็นสบู่ของคนไทย ทำไมชาวต่างชาตินิยมซื้อกลับบ้านไปเป็นของฝาก
และที่สำคัญคือ รู้หรือไม่ว่า บริษัทเจ้าของสบู่นกแก้วมีรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท
เรื่องราวเป็นอย่างไร TODAY Bizview ชวนไปหาคำตอบในบทความนี้กัน
สบู่ที่ชาวต่างชาติคิดค้น จนเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย
เราขอพาคุณย้อนกลับไปช่วงหลังสงคราวโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นคนไทยยังอาบน้ำริมคลอง มีน้อยคนที่จะใช้สบู่ในการอาบน้ำ
เพราะว่าคนไทยยังนิยมใช้สบู่กรดสีครามปนสีขาว ๆ ที่ร้านยี่ปั๊วห่อจะตัดจากก้อนใหญ่ ๆ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเท่าฝ่ามือ ห่อใส่กระดาษหนังสือพิมพ์ไว้แบ่งขาย ซึ่งสบู่กรดนี้เป็นสบู่สารพัดประโยชน์ที่ไว้ใช้ตั้งแต่ขัดหม้อที่เต็มไปด้วยรอยไหม้และเขม่า ใช้ซักผ้า ซักถุงเท้านักเรียน ไปจนถึงอาบน้ำ
สบู่กรดนี้เป็นกลิ่นเคมีทำสบู่ ไม่มีกลิ่นหอมใด ๆ และไม่มีต่อสุขภาพผิวอีกด้วย
มร.วอลเตอร์ เลโอ ไมเยอร์ (Walter Leo Meyer) ประธานกรรมการห้างเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แอนด์โก ห้างสรรพสินค้าที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทยมองว่าประเทศไทยยังไม่มีสบู่หอมสำหรับอาบน้ำโดยเฉพาะ จึงเปิดบริษัท รูเบียอุตสาหกรรม จำกัด ในซอยสุขุมวิท 42 โดยนำเข้าหัวน้ำหอมจากฝรั่งเศสผสมกับส่วนผสมจากสมุนไพรไทย และใช้แรงงานผลิตสบู่ด้วยมือทุกก้อน
มีเรื่องเล่ากันว่ากลิ่นสบู่อบอวลไปทั่วซอย จนชาวบ้านมามุงดูกระบวนการผลิต และเรียกซอยที่ตั้งของโรงงานว่าซอยรูเบีย
ส่วนที่มาของชื่อเกิดจากมร.ไมเยอร์ชอบเดินป่า และชอบนกแก้วไทย ประกอบกับชื่อแบรนด์สมัยก่อนที่นิยมตั้งเป็นชื่อสัตว์ ทำให้ท่านประธานบริษัทตัดสินใจผลิตสบู่กลิ่นจากสมุนไพรไทยธรรมชาติในชื่อสบู่นกแก้ว
สบู่นกแก้วเริ่มกลายเป็นที่นิยมในกลุ่มคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ จนคนไทยเรียกติดปากกันว่าสบู่ก้อนเขียว
>> สนใจ สบู่หอมนกแก้ว ยกแพ็ค คลิกเลย !! <<
(กว่าจะได้) ภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และความเป็นไทย
สบู่นกแก้วเริ่มเป็นที่รู้จักจากโฆษณาทีวี
ในปี 2514 ผู้บริหารสบู่นกแก้วในยุคนั้นตัดสินใจทำโฆษณาทางโทรทัศน์ครั้งแรก และเลือกพรีเซนเตอร์คนแรก คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ทำให้แบรนด์กลับมาติดตลาดอีกครั้ง จนสามารถทำยอดขายได้ 25 ล้านบาท
สบู่นกแก้วจะเป็นสบู่อาบน้ำแบรนด์แรกที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย และเป็นที่นิยมของคนไทยแทบทุกบ้านได้ไม่กี่สิบปี ปี 2530 คนไทยก็เริ่มนิยมใช้ของนำเข้าจากต่างประเทศ สบู่ลักส์จาก Uniliver และ สบู่ปาล์มโอลีฟ จาก Colgate เริ่มเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาด ทำให้คนไทยนิยมสบู่นกแก้วน้อยลง
โดยในปี 2539 สบู่นกแก้วมีรายได้สู่ 100 ล้านบาทแล้ว แต่นกแก้วก็ถูกมองว่าเป็นของบ้านนอก เชย ไม่ตามสมัยนิยม
จนกระทั่งช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 คนไทยเริ่มนิยมใช้ของนอกลงลง จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก
สบู่นกแก้วรีบใช้โอกาสนี้โฆษณาว่าสบู่นกแก้วเป็นสินค้าที่คนไทยผลิต เพื่อคนไทย โดยมีโก๊ะตี๋ อารามบอยในวัยเด็กเป็นพรีเซนเตอร์
นี่คือการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ทำให้สบู่นกแก้วเป็นกลับมาเป็นที่นิยมและเติบโตอย่างยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้สบู่นกแก้วยังเป็นที่นิยมอยู่คือการปรับตัว
เมื่อตลาดสบู่เริ่มมีการแข่งขันดุเดือดขึ้น รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สบู่นกแก้วจึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นสบู่เหลว และเปิดตัวกลิ่นใหม่ ๆ จากดอกไม้ไทย เช่น ลีลาวดี มะลิ กุหลาบ กล้วยไม้ป่า หลังจากขายสบู่กลิ่นพฤกษานานาพรรณสีเขียวเพียงสีเดียวมานานหลายสิบปี ทำให้คนไทยหันกลับมาสนใจสบู่นกแก้วมากขึ้นกว่าเดิม จนสามารถทำยอดขายได้ถึง 40 ล้านก้อนต่อปี
ส่วนผลประกอบการของบริษัท รูเบียอุตสาหกรรม จำกัด
ในปี 2565 มีรายได้อยู่ที่ 1,985 ล้านบาท กำไร 136 ล้านบาท
ในปี 2564 มีรายได้อยู่ที่ 2,029 ล้านบาท กำไร 291 ล้านบาท
ในปี 2563 มีรายได้อยู่ที่ 2,342 ล้านบาท กำไร 427 ล้านบาท
เหตุผลที่รูเบียอุตสาหกรรมสามารถทำรายได้ทะยานขึ้นถึงหลักพันล้านบาทไม่ได้เกิดจากสบู่นกแก้วเพียงอย่างเดียว แต่บริษัทนี้ยังผลิตสินค้าแบรนด์ดังที่คนไทยคุ้นเคย เช่น ลูกอม Sugus, สบู่ Dettol หรือยาสีฟัน Sparkle อีกด้วย
สบู่ไทยที่มีชื่อเสียงในกลุ่มลูกค้าต่างชาติ
สบู่นกแก้วไม่ได้เป็นที่นิยมเฉพาะในกลุ่มคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่นิยมในระดับนานาชาติ มีการวางจำหน่ายในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย