วิธีตรวจเช็กสภาพรถยนต์เบื้องต้น ทำเองได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด

วิธีตรวจเช็กสภาพรถยนต์เบื้องต้น

ทุกวันนี้การเดินทางส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์แทบทั้งสิ้น และยิ่งใครที่ต้องใช้รถยนต์ในชีวิตประจำวันบ่อย ๆ ด้วยแล้วละก็ บทความนี้อาจเป็นความรู้ให้ไม่มากก็น้อย หรือบางคนอาจรู้แล้วก็ไม่เป็นไร เพราะยังมีมือใหม่บางท่านที่อาจยังไม่ทราบก็ได้

 

 

สำหรับวิธีตรวจเช็กต่าง ๆ ที่นำมาเสนอในครั้งนี้ จะเป็นการตรวจเช็กแบบคร่าว ๆ ที่ทำได้ด้วยตนเอง เพื่อที่จะได้รับรู้ทันท่วงที หากเกิดความผิดปกติขึ้น ก่อนที่มันจะลุกลามไปใหญ่โตจนทำให้เสียเงินเสียทองซ่อมบานตะไท และขอย้ำว่านี่ไม่ใช่แนวทางการซ่อม หากพบเจอปัญหาควรนำรถยนต์เข้าศูนย์ซ่อม หรืออู่ซ่อมรถยนต์ทันทีจะดีที่สุด

วิธีตรวจเช็กสภาพรถ

1. น้ำมันเครื่อง ดึงก้านน้ำมันเครื่องออกมาในขณะที่เครื่องยนต์ทำงานจนถึงอุณหภูมิปกติแล้วดับสักครู่ (1-5นาที) จากนั้นเช็ดทำความสะอาดปลายก้านที่มีน้ำมันเครื่องติดออกมา แล้วใส่กลับเข้าไปที่เดิมอีกครั้ง ปล่อยไว้สักครู่แล้วดึงออกมาวัดระดับที่ได้ ว่ามีน้ำมันเครื่องคงเหลืออยู่ปริมาณเท่าไร โดยดูได้จากเกจวัดระดับ และที่ดีที่สุดคือระดับน้ำมันเครื่องต้องอยู่ในจุด F หรือ FULL นั่นเอง (อย่าปล่อยให้น้ำมันเครื่องแห้งเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นเครื่องยนต์พังแน่ ๆ)

 

2. น้ำมันเกียร์อัตโนมัติ สิ่งแรกที่ต้องทำคือจอดรถบนทางราบ และใส่เบรกมือ จากนั้นสตาร์ตเครื่องยนต์แล้วเปลี่ยนเกียร์ ไล่ไปตั้งแต่ตำแหน่ง P จนถึง L หรือ 1 เมื่อเปลี่ยนเกียร์แต่ละตำแหน่งให้ค้างไว้ที่ตำแหน่งนั้น ๆ สักครู่ แล้วจึงค่อยเลื่อนเปลี่ยนเกียร์ถัดไป เสร็จทุกเกียร์แล้วจึงเลื่อนมา P หรือ N ดึงก้านวัดระดับเกียร์อัตโนมัติออกมาแล้วเช็ดทำความสะอาดก่อน จากนั้นใส่ก้านวัดกลับเข้าไปแล้วดึงออกมาใหม่ คราวนี้สังเกตดูว่าระดับน้ำมันที่ติดออกมาอยู่ตรงตำแหน่งไหน ซึ่งถ้ายังอยู่ตรงคำว่า H หรือ HOT แสดงว่าระดับน้ำมันเกียร์อัตโนมัติปกติ

 

3. น้ำมันเบรก มีจุดให้สังเกตระหว่าง Min กับ Max ถ้าในระดับปกติต้องไม่เกิน Max และไม่ต่ำกว่า Min แต่ถ้าหากรู้สึกว่า น้ำมันเบรกพร่องหายเยอะเกินปกติ ควรรีบหาสิ่งผิดปกติโดยทันที หรือนำไปให้ช่างผู้ชำนาญตรวจเช็ก และแก้ไข

 

4. น้ำมันคลัตช์ สำหรับรถยนต์เกียร์ธรรมดา เช่นเดียวกันกับน้ำมันเบรก สังเกตดูที่ระดับ Min กับ Max โดยระดับน้ำมันคลัตช์ต้องอยู่ระหว่างกลาง ไม่มาก ไม่น้อยไปกว่าจุดที่กำหนด และถ้ารู้สึกว่าน้ำมันคลัตช์หายเยอะจนผิดปกติ ให้รีบหาต้นตอปัญหา หรือให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจเช็ก และแก้ไขทันที

 

5. น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ เช็กได้ง่ายๆ เหมือนกับ 2 ข้อด้านบน ดูระดับ Min กับ Max เช่นเดียวกัน ไม่ให้น้อย หรือเกินกว่าจุดที่กำหนด และถ้าระดับน้ำมันหายไปเยอะผิดปกติ ก็ตรวจหาสาเหตุ หรือให้ช่างตรวจเช็ก และแก้ไขทันที

 

6. น้ำในถังฉีดกระจก อาจจะดูไม่ค่อยสำคัญเท่าไร แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องใช้จริง ๆ มีไว้ก็ดีกว่าจะใช้แล้วไม่มี ดังนั้นควรเช็กบ้างว่ามันยังมีเหลือหรือเปล่า เพราะใช้เพียงแค่น้ำเปล่าธรรมดาเท่านั้น

 

7. แบตเตอรี่ มีทั้งแบบน้ำและกึ่งแห้ง สำหรับแบตฯ แห้งแท้ ๆ ราคาค่อนข้างจะสูงมากทีเดียว ส่วนใหญ่นิยมแบบกึ่งแห้งไม่ต้องดูแลอะไรมาก เพียงแค่สังเกตอาการ ถ้าเมื่อไหร่ที่เริ่มสตาร์ตติดยาก หรือถึงตามระยะเวลาอายุการใช้งาน ก็เตรียมตัวเปลี่ยนได้เลย แต่ถ้าเป็นแบตฯ น้ำ ต้องดูแลใส่ใจกันนิดนึง เพราะใช้ไปสักระยะ น้ำที่อยู่ในแบตฯ จะระเหยออกไป ดังนั้นจึงต้องคอยเติมอยู่เสมอไม่ให้ขาด และอย่าเติมล้นเกินไป เพราะเมื่อมันเดือดกรดจะล้นออกมากัดขั้ว หรือตัวถังรถได้

 

8. น้ำยาหล่อเย็นในหม้อน้ำ ควรจะเช็กในตอนเช้า ๆ ก่อนสตาร์ตเครื่องยนต์ หรือเช็กในตอนที่เครื่องยนต์ไม่มีความร้อนจะดีที่สุด ส่วนการสังเกตความผิดปกตินั้น ก็เปิดฝาหม้อน้ำ หรือถังพักน้ำสำรอง ดูสี ดูสภาพ ว่ายังดูดีเหมือนตอนแรกหรือเปล่า น้ำลดหายไปมากแค่ไหน ถ้าหายไปก็เติมเข้าไปด้วยน้ำยาหล่อเย็น หรือน้ำเปล่า (เฉพาะในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น) เพราะการใช้น้ำยาหล่อเย็นจะช่วยป้องกันหม้อน้ำได้ดีที่สุด และหากสภาพที่เห็นไม่ค่อยสู้ดี มีสีของสนิม สมควรแก่การเปลี่ยนถ่ายโดยทันที

 

9. ท่อยาง ท่อทางเดินต่าง ๆ ในห้องเครื่อง ตรวจดูท่อต่าง ๆ ว่ามีตรงไหนผิดปกติบ้าง และท่อเชื่อมต่อต่าง ๆ ยังอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งานหรือเปล่า เช่น ไม่มีการรั่ว เยิ้ม แฉะ ซึม ฯลฯ พร้อมทั้งตรวจสภาพของท่อไปด้วยว่ามีอาการ กรอบ แข็ง นิ่ม หรือไม่

 

10. ไส้กรองอากาศรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นแบบเปียก หรือแบบแห้ง กรองเปลือย หรือกรองเดิม ก็ต้องใส่ใจดูแลกันสักหน่อย จะได้ไม่มีเศษฝุ่นสิ่งสกปรกต่าง ๆ ผ่านเข้าไปในห้องเผาไหม้ ส่วนการดูแลก็ทำได้ง่าย หากดูแล้วยังเห็นว่าใช้งานได้อยู่ สกปรกไม่มาก ก็จัดการนำไปเป่าไล่เศษฝุ่นต่าง ๆ จากภายในออกสู่ภายนอกให้หมด หรือถ้าเป็นแบบเปียกก็นำไปล้างแล้วลงน้ำยาใหม่ และถ้าสกปรกมาก หรือดูสภาพไม่ดีแล้ว จัดการเปลี่ยนใหม่ดีที่สุด

 

11. ยางรถยนต์ ดูคร่าว ๆ ในเรื่องของสภาพยางทั้ง 4 ล้อ และยางอะไหล่ ว่ายังพร้อมใช้หรือไม่ รวมไปถึงตรวจดูลมยางของแต่ละล้อ ว่ามีล้อไหนลมหายไปเยอะผิดปกติกว่าเส้นอื่นบ้าง หากมีควรรีบหาสาเหตุ และนำไปปะยางทันที หรือถ้าสภาพยางไม่ไหวแล้ว จัดการเปลี่ยนใหม่ปลอดภัยกว่า

12. ไส้กรองระบบปรับอากาศภายในรถยนต์ ต้องลงทุนรื้อภายในกันนิดหน่อย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถแน่นอน ซึ่งหลังจากที่ถอดออกมาแล้ว ก็จัดการเปลี่ยนอันใหม่เข้าไปได้เลย (ไม่แนะนำให้เอามาทำความสะอาดแล้วใส่เข้าไปใหม่ เพราะไส้กรองแอร์ราคาไม่แพงแล้ว)

 

13. สัญญาณไฟ และไฟส่องสว่างต่าง ๆ เช็กดูให้หมด ทั้งไฟหน้าสูง-ต่ำ ไฟท้าย ไฟเลี้ยว ไฟเบรก ไฟถอยหลัง ไฟฉุกเฉิน ฯลฯ ว่ามีตรงไหนติด-ดับบ้าง หากมีก็จัดการนำหลอดใหม่เปลี่ยนเข้าไปแทนที่ได้เลย

 

คลิปวีดีโอ  วิธีตรวจเช็กสภาพรถ

 

เครดิตจาก ช่อง ยูทูป : Maxtime

 

ถือเป็นข้อมูลความรู้เบื้องต้นให้แก่ผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ อีกทั้งยังช่วยเสริมให้ผู้ที่รู้แล้วได้เข้าใจมากขึ้น และหากข้อไหนที่เช็กแล้วมีปัญหา ไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้ แนะนำให้เข้าศูนย์บริการ หรืออู่ซ่อมทันที เพราะหากทำเองแล้วผิดพลาดจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้

 

ใส่ความเห็น