ต้องใส่ใจให้มาก …. ถ้าไม่อยาก ‘ฟอกไต’ ตอนแก่ อยู่ห่างจากสิ่งเหล่านี้ไว้ อะไรบ้างที่ไม่ควรทำ

อย่างที่รู้กันว่า ‘ไต’ เป็นอวัยวะที่สำคัญมาก สำคัญขนาดที่มีการแอบซื้อขายไตกันอย่างผิดกฎหมายด้วยราคาสูงปรี๊ดด ทั้งนี้ก็เพราะถ้าไม่มีไต ชีวิตก็ต้องสะดุดลงแน่นอน ถ้าไม่อยากต้องสูญเสียไตไปก่อนวัยอันควร มาลองศึกษาวิธีการถนอมไตให้แข็งแรงตลอดไปกันดีกว่า วิธีง่ายๆดังต่อไปนี้ค่ะ

ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะ มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วแดงขนาดเท่ากำปั้น มี 2 ข้างอยู่ด้านหลังบริเวณเอว ไตทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย สร้างสารที่มีประโยชน์ ตลอดจนควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย และช่วยขับถ่ายสารแปลกปลอมที่ร่างกายรับมา หากไตเกิดความผิดปกติหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ ของเสียต่างๆ ก็จะสะสมและคั่งค้าง จนเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

อาการของโรค

ระยะแรก มักจะไม่มีการแสดงอาการใดๆ เนื่องจากไตสามารถปรับการทำงานให้สมดุลได้แม้เหลือเพียง 50 เปอร์เซ็นต์จากปกติก็ตาม

ระยะที่สอง เมื่อใดที่การทำงานของไตลดเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ จะเริ่มแสดงอาการต่างๆ ได้แก่

– อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร

– ซีด

– คันตามตัว บวมตามใบหน้าและแขนขา

– ปัสสาวะมากตอนกลางคืน

หากมีอาการเหล่านี้ให้ต้องสงสัยไว้เลยว่าไตของคุณเริ่มถูกทำลายลงไปแล้ว

วิธีการตรวจหาความผิดปกติและป้องกันโรค

1. ตรวจร่างกายประจำปี เพื่อคัดกรองโรคไตในเบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไต เช่น

– ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

– ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดอื่นๆ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเกาต์

– ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไต ผู้

– ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ หลายครั้ง

– ผู้ป่วยที่ทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

– ผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน

2. ชะลอความเสื่อมของไต

หากผู้ป่วยโรคไตรู้จักทะนุถนอมไตอย่างถูกวิธีจะทำให้พวกเขามีชีวิตยืนยาวโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการล้างไต ฟอกเลือด และปลูกถ่ายไต วิธีการถนอมไตมีดังต่อไปนี้ ได้แก่

– ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ คือ ระดับต่ำกว่า 130/80 มิลิเมตรปรอท

– ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน

– ควบคุมและหลีกเลี่ยงอาหารประเภทโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ เพื่อไม่ให้ระดับของเสียในร่างกายเพิ่มขึ้น

– เน้นการทานโปรตีนจากเนื้อปลาและไข่ขาว เนื่องจากย่อยง่ายและมีคุณค่าทางอาหารสูง

– หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ของหมักดอง ขนมขบเคี้ยวต่างๆ และอาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะผู้ที่มีความดันโลหิตสูงและอาการบวม

– หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน เช่น กะทิ เนื้อติดมัน ของทอด ไข่แดง อาหารทะเล เป็นต้น เพราะถ้าหากมีไขมันในเลือดสูงจะทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวและเป็นผลเสียต่อไต

– งดสูบบุหรี่

– ออกกำลังกายเบาๆที่จะช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น เช่น บริหารร่างกายอยู่กับที่ เดิน เป็นต้น

– ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ วันละประมาณ 8 -10 แก้ว

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารหวาน มัน เค็ม ดื่มน้ำสะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ซื้อยาทานเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง จะเป็นการป้องกันที่ดีที่จะช่วยให้คุณมีร่างกายที่แข็งแรง ไตแข็งแรงได้ตลอดไป

ใส่ความเห็น