หน้าฝนระวังเห็ดพิษ ! เปิดชื่อ’เห็ดพิษ’ บางชนิดกินถึงตาย บางชนิดกินแล้วหลอนคล้ายเสพยา!

เผยรายชื่อเห็ดพิษกินแล้วตาย เตือนวิธีทดสอบพื้นบ้าน ไม่ชัวร์กินได้หรือมีพิษ แนะดื่มน้ำอุ่นผสมผงถ่านก่อนล้วงคอ รีบส่งโรงพยาบาล

 

 

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า แต่ละปีช่วงต้นฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว (พ.ค.-พ.ย.) ชาวบ้านนิยมเก็บเห็ดป่ามากิน รวมทั้งการนำไปขายสร้างรายได้ ทำให้ช่วงเวลานี้พบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการเก็บเห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติ มีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับอันตรายจากสารพิษ ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจวิเคราะห์ชนิดของสารพิษในเห็ด ประกอบด้วยสารพิษ 3 ชนิดได้แก่ alpha amanitin, beta amanitin และ muscarine

โดยข้อมูลระหว่างปี พ.ศ.2551-2560 อุบัติการณ์ดังกล่าวพบมากในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ซึ่งเห็ดพิษมีหลายชนิด บางชนิดพิษร้ายแรงถึงตาย เช่น “เห็ดระโงกหิน” สารพิษทำให้คนตายได้เท่ากับ 0.1 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. จัดเป็นพิษในเห็ดร้ายที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นการต้ม ทอด ย่าง ทำลายพิษไม่ได้ เนื่องจากความร้อนไม่สามารถทำลายสารพิษได้

ส่วน “เห็ดหัวกรวดครีบเขียว” มีพิษทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ขณะที่ “เห็ดขี้วัว” กินเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดจินตนาการเป็นภาพหลอนคล้ายยาเสพติด หรือ “เห็ดน้ำหมึก” ที่ปกติตัวเห็ดไม่มีพิษ แต่อาการพิษจะแสดงเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 24-72 ชม. ก่อนหรือหลังกินเห็ดชนิดนั้น จะมีอาการหน้าแดง ปวดหัวรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็วและหายใจลำบาก หัวใจเต้นแรง

สำหรับความเชื่อโดยใช้ความรู้พื้นบ้าน ทดสอบเห็ดพิษด้วยวิธีต่างๆ เช่น นำข้าวสารต้มกับเห็ด ถ้าเป็นพิษข้าวสารจะสุกๆ ดิบๆ หรือสังเกตดอกเห็ดที่มีรอยแมลงสัตว์กัดกิน จะเป็นเห็ดไม่มีพิษนั้น วิธีการเหล่านี้ให้ผลถูกต้องไม่ทั้งหมด หากกินเห็ดมีพิษเข้าไป วิธีช่วยเหลือทำให้อาเจียนออกมาให้มากที่สุด โดยดื่มน้ำอุ่นผสมผงถ่าน หรือน้ำเกลือ 2 แก้ว แล้วล้วงคอเพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าสู่ร่างกาย และรีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเห็ดสด (ถ้ามี) ที่เหลือจากการปรุงอาหารส่งตรวจพิสูจน์

อย่างไรก็ตาม ห้องปฏิบัติการพิษวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังพัฒนาวิธีตรวจจำแนกชนิดของเห็ด โดยใช้ดีเอ็นเอ บาร์โค้ด ช่วยค้นพบสายพันธุ์เห็ดพิษที่ไม่เคยมีรายงานในประเทศไทย ทำให้มีฐานข้อมูลมากกว่า 200 ฐานข้อมูล และจะจัดตั้งฐานข้อมูลอ้างอิงในระดับพันธุกรรมโมเลกุลของเห็ดพิษต่อไป

 

ภาพ เห็ดหัวกรวดครีบเขียว

 

ภาพ เห็ดขี้หมึก

 

ภาพ เห็ดขี้วัว

 

ใส่ความเห็น