สำหรับผู้ใช้รถผู้ใช้ถนน มักจะคุ้นเคยกับภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาปฏิบัติหน้าที่โดยการตั้งด่านตรวจผู้กระทำผิดบริเวณท้องถนน แต่ก็มีหลายคนสงสัยว่า การตั้งด่านตรวจนั้น ประชาชนจะทราบได้อย่างไรว่า จุดตั้งด่านนั้นเป็นด่านที่ตั้งอย่างถูกต้อง หรือเป็นด่านสกัดกั้นผู้กระทำความผิดเฉพาะกิจ และเราควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อถูกเรียกตรวจสอบ
บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ พร้อมเผยแพร่ข้อมูลตามกฎระเบียบของทางตำรวจเท่านั้น และเพื่อคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจว่ามีองค์ประกอบต่างๆ และมีจุดประสงค์อย่างไรบ้าง
1. ความหมายของคำว่า “ด่านตรวจ” “จุดตรวจ” และ “จุดสกัด”
เริ่มกันด้วยความหมายของการตั้งด่านตรวจ การตั้งด่านนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบด้วยกันคือ
1.1. ด่านตรวจ หมายถึง สถานที่ทำการที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ (ความหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2535) โดยระบุสถานที่ไว้ชัดแจ้งเป็นการถาวร การตั้งด่านตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือ กอ.รมน.แล้วแต่กรณี
1.2. จุดตรวจ หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถหรือทางหลวงในกรณีปกติเป็นการชั่วคราว โดยมีกำหนดระยะเวลาเท่าที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว แต่ต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจะต้องยุบเลิกจุดตรวจดังกล่าวทันที
1.3. จุดสกัด หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ หรือทางหลวง ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้นเป็นการชั่วคราวและจะต้องยุบเลิกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว
2. การจัดตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด
ข้อกำหนด การจัดตั้งและรูปแบบต่างๆ ของด่านตรวจที่พึงมี รวมถึงข้อจำกัดที่ถูกต้องในการตั้งด่านตรวจมีดังนี้
2.1. ห้ามมิให้ตั้งด่านตรวจ จุดตรวจหรือจุดสกัด ในเขตทางเดินรถหรือ ทางหลวงเว้นแต่
2.1.1. ด่านตรวจ การจัดตั้งด่านตรวจจะกระทำได้ ต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือ กอ.รมน. แล้วแต่กรณี
2.1.2. จุดตรวจ การตั้งจุดตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ชั้น ผบก.ขึ้นไป โดยพิจารณาว่าเป็นกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องมีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง
2.1.3 การจัดตั้งจุดสกัด จะตั้งได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้น และจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับหัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้รักษาการแทนขึ้นไป โดยมีกำหนดระยะเวลาเท่าที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าวยังคงมีอยู่เท่านั้น
2.2 ให้เลิกด่านตรวจ จุดตรวจ ที่ตั้งขึ้นไม่ตรงตามวัตถุประสงค์และความหมายตามข้อ 1 และ 2 ทั้งหมดตั้งแต่บัดนี้
หน้าที่และกฏระเบียนของตำรวจในขณะปฏิบัติงาน ณ ด่านตรวจที่ถูกต้องเหมาะสม คือ
- การปฏิบัติหน้าที่ ณ ด่านตรวจ จุดตรวจหรือจุดสกัด จะต้องมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นหัวหน้า และจะต้องแต่งเครื่องแบบในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
- การปฏิบัติในการตรวจค้น จับกุม ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ว่าด้วยการนั้นโดยเคร่งครัด
- ที่ด่านตรวจหรือจุดตรวจ ต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายการจราจรว่า “หยุด” โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ด่านตรวจหรือจุดตรวจ จะต้องมีในการติดตั้งป้ายและเครื่องหมายการจราจร และในเวลากลางคืนจะต้องให้มีแสงไฟส่องสว่างให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตรก่อนถึงจุดตรวจ และให้มีแผ่นป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของหัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำด่านตรวจและจุดตรวจดังกล่าวนอกจากนั้นให้มีแผ่นป้ายแสดงข้อความว่า “หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบให้แจ้ง ผู้บังคับการ โทร…” (ให้ใส่หมายเลขโทรศัพท์ของ ผบก.ไว้ ข้อความดังกล่าวข้างต้นให้มองเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร
- การตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัด ให้ทุกหน่วยประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยใกล้เคียงให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบติดต่อกัน โดยมิให้เกิดการตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัดซ้ำซ้อนอันเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้สัญจรไปมาเป็นอันขาด
4. การควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติ
นอกจากนี้การตั้งด่านต่างๆ นั้น จะต้องมีผู้รายงานในขณะปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ถูกต้องและรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมกับการออกตรวจบริเวณการตั้งด่านอีกด้วย<
- เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มต้น หรือเลิกปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจหรือ จุดสกัด ให้รายงานทาง ว. ให้ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งอนุมัติให้ตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัดดังกล่าวทราบ และเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติแล้วให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำจุดตรวจ หรือจุดสกัดดังกล่าว รายงานผลการปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้สั่งอนุมัติภายในวันถัดไปเป็นอย่างช้า
- ให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับ สว. ขึ้นไป ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกตรวจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำด่านตรวจ จุดตรวจหรือจุดสกัด ที่มีอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ