ใครจะไปเชื่อ “มนุษย์โต๊ะรก” คือพวกมีประสิทธิภาพการทำงานสูง ! ลองเช็คดู คุณเป็นแบบนั้นหรือไม่….
เชื่อหรือไม่ “มนุษย์โต๊ะรก”คือพวกมีประสิทธิภาพการทำงานสูง !
ปกติแล้ว เรามักจะเห็นพฤติกรรมของคนทำงานที่แตกต่าง โดยเฉพาะ “การจัดโต๊ะ” หลายคนชอบจัดโต๊ะแนวต่าง ๆ เช่น สวยงาม หรือเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะเชื่อว่า จะทำให้โต๊ะสะอาด และสร้างสรรค์ไอเดียได้อย่างลื่นไหล
ขณะเดียวกัน คนที่ไม่ชอบจัดโต๊ะ หรือปล่อยให้โต๊ะรก สุมไปด้วยหนังสือและงานต่าง ๆ เป็นกองพะเนิน มักจะถูกตำหนิว่า เป็นพวกไม่รักความเป็นระเบียบ ยุ่งเหยิง และน่าจะเป็นพวกสับสนในการทำงานไม่มากก็น้อย
ทว่า ความเชื่อทำนองนี้ ได้มีผู้ออกมาแสดงทัศนะปฎิเสธว่า ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่! โดยศาสตราจารย์เอริก อับราฮัมสัน ผู้ประพันธ์หนังสือเรื่อง “A Perfect Mess” ได้เขียนไว้ในหนังสือดังกล่าวว่า คนที่มีโต๊ะทำงานรกนั้น แท้จริงไม่ใช่พวกขี้เกียจ แต่เป็นพวกคนทำงานที่มีประสิทธิภาพ อย่างเช่น อัจฉิรยะบุคคลหลายคนของโลกนี้ !
โดยในหนังสือนี้ระบุว่า โดยปกติแล้ว ผู้จัดการจำนวนมากคอยจะดูถูกลูกจ้างที่มีโต๊ะรกรุงรัง แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาอาจทำงานได้ดีกว่าคนอื่น ๆ เนื่องจากความรกเป็นสัญลักษณ์ของการที่บุคคลกำลังโฟกัส หรือมุ่งความสนใจหลักไปยังงานของเขา และ “ภาวะโต๊ะรก” ของคนประเภทนี้ ชี้ว่าพวกเขาเป็นพวกทำงานเยอะมาก และทำงานเร็วด้วย โดย ศ.เอริก ได้ยกตัวอย่างบุคคลอัจฉิรยะอย่าง “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ยอดนักวิทยาศาสตร์ เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ และนายโรอัลด์ ดาลห์ นักเขียนชาวเวลส์ชื่อดัง ที่ทั้งคู่ต่างมีชื่อเสียงในเรื่องโต๊ะรกมาก
ศ.เอริกชี้ว่า “ความรกรุงรัง”นั้นไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่จะมีความเป็นระเบียบเข้ามาควบคุม ตัวอย่างเช่น เราสามารถดูปรากฎการณ์ของกลุ่ม “ซิลิคอน วัลเลย์” เพราะแม้จะดูวุ่นวาย แต่มันเป็นลักษณะการทำงานของบริษัทที่หลากหลายแตกต่างกัน ทำงานใกล้ชิดกัน และสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ขึ้นมา
ขณะที่โต๊ะรกรุงรังอาจมองได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของระบบที่มีประสิทธิภาพสูง สิ่งสำคัญที่สุดของโต๊ะที่รกรุงรังนั้นคือ งานที่เร่งด่วนจะอยู่ใกล้ที่สุด ขณะที่สิ่งที่ไม่จำเป็นที่สามารถปล่อยเฉยได้ จะถูกทิ้งให้อยู่ใต้ก้นกองหนังสือที่รกรุงรังนั้น สิ่งนี้สะท้อนถึงความมีเหตุผลได้อย่างสมบูรณ์แบบ!
นี่เป็นการอธิบายของผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ซึ่งถือว่าแตกต่างจากความคิดและความเชื่อของคนทั่วๆ ไป แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีได้ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ การใช้วิจารณญาณหรือการสังเกตตัดสินของเราเองต่อพวก”มนุษย์โต๊ะรก”ซึ่งอาจเป็นเพื่อนผู้นั่งใกล้ชิดเราว่า แท้จริงแล้ว เขาเป็นมนุษย์ผู้มีประสิทธิภาพสูงในการทำงาน เหมือนเช่นอย่างที่ ศ.เอริก อับราฮัมสัน กล่าวไว้หรือไม่!!!
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
อ่านต่อได้ที่: http://www.kruwandee.com/news-id32067.html