คิดจะผ่อนรถ ปี 66 ต้องอ่าน ก.ม.ใหม่บังคับใช้ 10 ม.ค. 66

 

ปีใหม่ 2566 ใครที่กำลังคิดจะผ่อนซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ต้องอ่านด่วนๆ เนื่องจากเมื่อ ต.ค.65 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่า “ด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 ประกอบกับมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา พ.ศ.2542 โดยจะมีผลบังคับใช้หลังพ้นกำหนด 90 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

ซึ่งกฎหมายใหม่นี้จะบังคับใช้ในวันที่ 10 ม.ค.66 แล้วประกาศเช่าซื้อ “รถยนต์-จยย.” มีการคิดดอกเบี้ยอย่างไร ?

 

 

 

คนที่กำลังจะผ่อนซื้อรถได้ประโยชน์อย่างไร ?

1.อัตราดอกเบี้ยจะต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี หรือ Effective Interest Rate โดยเพดานสูงสุดที่กฎหมายกำหนด สำหรับรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี รถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินร้อยละ 23 ต่อปี และยังให้มีการพิจารณาปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 3 ปีเพื่อสร้างความเป็นธรรมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจด้วย

2.มีส่วนลดดอกเบี้ยกรณีผู้เช่าซื้อจะปิดบัญชีชำระค่างวดก่อนครบสัญญาเป็นขั้นบันได คือ กรณีชำระค่างวดเกินกว่า 1 ใน 3 ของค่างวดทั้งหมด ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลดดอกเบี้ยให้ผู้เช่าซื้อไม่น้อยกว่า 60%, กรณีชำระค่างวดเกินกว่า 1 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 ของค่างวดทั้งหมด ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลดดอกเบี้ยให้ผู้เช่าซื้อไม่น้อยกว่า 70% และกรณีชำระค่างวดเกินกว่า 2 ใน 3 ของค่างวดทั้งหมด ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลดดอกเบี้ยให้ผู้เช่าซื้อทั้ง 100% หรือไม่คิดดอกเบี้ย

3.เงินส่วนต่างกรณีเลิกสัญญาและยึดรถให้คำนวณเฉพาะส่วนหนี้ที่ยังขาดชำระเท่านั้น ไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระได้ (จากเดิมเขียนไว้ว่า หนี้ที่ยังขาดอยู่ ทำให้เจ้าหนี้เช่าซื้อสามารถเรียกเก็บจากผู้เช่าซื้อได้ โดยสามารถเรียกเก็บได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ)

4.เบี้ยปรับจะคิดได้ไม่เกิน 5% ต่อปี และให้คิดเบี้ยปรับจากยอดหนี้ที่ผิดนัดชำระเท่านั้น ส่วนหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถนำมาคิดเป็นเบี้ยปรับได้ (จากเดิมผู้ประกอบการส่วนใหญ่นำหนี้ทั้งก้อนไปคิดเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้เช่าซื้อ)

5.ผู้เช่าซื้อยังคงต้องรับผิดในมูลหนี้ที่ขาดอยู่ (ติ่งหนี้) ในกรณีนำรถถูกยึดออกขายทอดตลาดเฉพาะค่างวดที่ขาดเฉพาะเงินต้นเท่านั้น ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดได้ (เดิมต้องรับผิดชอบค่างวดที่ค้างอยู่ตามสัญญาประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ) และถ้าจำนวนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดกับจำนวนเงินที่ผู้เช่าซื้อได้ผ่อนชำระไปแล้วสูงกว่ามูลหนี้ตามสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนส่วนที่เกินให้ผู้เช่าซื้อ

หลายคนมีคำถามว่าแล้วสัญญาเช่าซื้อเก่าที่ทำไว้ก่อนที่จะบังคับใช้ประกาศฉบับใหม่ต้องทำอย่างไร ประเด็นนี้ อีจัน สอบถามกับ ทนายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความอิสระ บอกว่า โดยปกติแล้วสัญญาเก่าที่เกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้จะเป็นไปตามสัญญาที่ทำกันมาก่อน ซึ่งกฎหมายใหม่จะใช้กับสัญญาใหม่ที่ทำขึ้นหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว

 

ใส่ความเห็น